Monday, May 01, 2006

HOLLY HUNTER

The Positively True Adventures of the Alleged Texas Cheerleader-Murdering Mom ถือเป็นหนึ่งในผลงานการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของฮันเตอร์ ผลงานการแสดงอีกเรื่องหนึ่งของเธอที่ดิฉันชอบมากๆก็คือเรื่อง Miss Firecracker (1989, โธมัส ชแลมม์) ซึ่งมีขายในรูปแบบวิดีโอลิขสิทธิ์ในประเทศไทย
http://images.amazon.com/images/P/B0001US84Y.01.LZZZZZZZ.jpg

Miss Firecracker มีเนื้อหาเกี่ยวกับคาร์เนล สก็อตต์ (ฮันเตอร์) ผู้หญิงที่เป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก เธอเติบโตขึ้นมาเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้สวยมากนัก แถมยังไม่มีฐานะการเงินที่ดีและไม่มีอะไรอื่นๆที่โดดเด่นเลย อย่างไรก็ดี เธอได้สร้างชื่อเสียงบางอย่างให้กับตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเธอมีเซ็กส์กับชายหนุ่มมากหน้าหลายตาในเมืองนั้นโดยไม่ถือตัว และนั่นส่งผลให้เธอได้รับสมญานามว่าเป็นผู้หญิงที่ใจง่ายที่สุดในเมืองเล็กแห่งนั้นในรัฐมิสซิสซิปปี

คาร์เนล สก็อตต์ ตั้งใจจะกอบกู้ชื่อเสียงของตัวเองด้วยการเข้าร่วมการแข่งขันประกวดนางงามและความสามารถที่มีชื่อว่า Miss Firecracker โดยเธอมองว่าการได้รับตำแหน่งนางงามนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการได้รับการยอมรับจากสังคม เธอไปขอความช่วยเหลือจากอีเลน (แมรี สตีนเบอร์เกนจาก Philadelphia) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเธอที่เคยชนะตำแหน่ง Miss Firecracker มาก่อน แต่อีเลนก็ดูเหมือนไม่ค่อยเต็มใจให้ความช่วยเหลือมากนัก

Miss Firecracker เป็นหนังที่ทำให้ดิฉันมีอารมณ์ร่วมและรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจสุดขีดในระดับพอๆกับ Valerie Flake และ Shirley Valentine เลยค่ะ เพราะดิฉันประทับใจกับทางเดินชีวิตที่คาร์เนลเลือกเดินในช่วงท้ายเรื่องเป็นอย่างมาก

อีกจุดหนึ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือบทของเดลเมาท์ (ทิม ร็อบบินส์) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของนางเอก เขาไม่ใช่หนุ่มหล่อเท่ แต่เป็นหนุ่มชาวบ้านที่ดูน่ารักมาก ทิม ร็อบบินส์ได้หัวใจของดิฉันไปทั้งดวงเลยค่ะจากหนังเรื่องนี้ ในขณะที่อัลเฟร วูดดาร์ด (Grand Canyon, Passion Fish, Down in the Delta, Funny Valentines) หนึ่งในนักแสดงหญิงผิวดำที่น่าทึ่งที่สุดของสหรัฐก็มารับบทประกอบในหนังเรื่องนี้ได้อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะในฉากที่เกี่ยวกับ “Elysian Fields”

ถึงแม้มีหนังอเมริกันหลายเรื่องที่นำเสนอตัวละครที่เต็มไปด้วยความมุมานะพยายามและมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อความสำเร็จแบบคาร์เนล แต่ Miss Firecracker ก็สร้างความสะเทือนใจให้กับดิฉันมากกว่าหนังส่วนใหญ่ เพราะหนังเรื่องนี้พูดถึงเรื่องของความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดระหว่างเพื่อนมนุษย์, การหลอกลวงตัวเอง, การทำตามความฝันลมๆแล้งๆ, ขีดความสามารถที่มีอยู่เพียงจำกัดในมนุษย์แต่ละคน, การยอมรับความจริงเกี่ยวกับตัวเองว่าตัวเองมีความสามารถ “น้อย” เพียงใด และการยอมรับนับถือตัวเองในที่สุด

นักวิจารณ์บางคนกล่าวอีกด้วยว่าเพียงแค่ได้ดูฉากที่คาร์เนลเต้นแท็ปบนเวทีประกอบเพลงชาติสหรัฐเพียงฉากเดียวก็ถือว่าคุ้มค่าตั๋วเข้าชมภาพยนตร์แล้ว

หนังเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่กำกับโดยชแลมม์ (So I Married an Axe Murderer) โดยคริสติน ลาห์ติ ซึ่งเป็นภรรยาของชแลมม์มาร่วมเล่นหนังเรื่องนี้ด้วย โดยรับบทเป็นเพื่อนบ้านที่กำลังอุ้มลูกจริงๆของเธอกับชแลมม์

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีนอกบรอดเวย์เรื่อง The Miss Firecracker Contest ของเบธ เฮนลีย์ และเฮนลีย์ก็รับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ฮอลลี ฮันเตอร์เองก็เคยแสดงเป็นนางเอกในละครเวทีเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว ทางด้านนักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่าหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจ และพูดถึงความบ้าที่สมาชิกครอบครัวกระทำต่อกันเหมือนในบทเรื่องอื่นๆของเฮนลีย์ แต่ต่างกันตรงที่ Miss Firecracker มีความซับซ้อนทางอารมณ์สูงและสร้างอารมณ์ผูกพันใกล้ชิดกับตัวละครมากกว่าเรื่องอื่นๆ

ผลงานการเขียนบทภาพยนตร์ชิ้นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของเฮนลีย์ก็คือ Crimes of the Heart (1986, บรูซ เบเรสฟอร์ด) โดยบทภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีของเฮนลีย์ที่เคยได้รับรางวัลพูลิทเซอร์ ทั้งนี้ Crimes of the Heart เน้นเรื่องราวของตัวละครหญิงและใช้ฉากหลังเป็นรัฐมิสซิสซิปปีเหมือนกับ Miss Firecracker โดยดารานำของเรื่องคือไดแอน คีตัน, ซิสซี สปาเซ็ค และเจสสิกา แลงจ์ โดยรับบทเป็นสามสาวพี่น้องที่กลับมาเจอหน้ากันอีกครั้ง

หนังที่น่าสนใจอีกสองเรื่องของฮันเตอร์ก็คือ Crazy in Love (1992, มาร์ธา คูลลิดจ์) กับ Jesus’ Son (1999, แอลิสัน แมคลีน) โดย Crazy in Love เล่าเรื่องของผู้หญิงสามชั่วอายุคนที่อาศัยอยู่ในเมือง Puget Sound ในรัฐวอชิงตัน และเหล่าบรรดาผู้ชายที่ขาดความรับผิดชอบในชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ โดยบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือของเจอรัลด์ ไอร์ส และดัดแปลงมาจากนิยายของลูแอนน์ ไรซ์

จีน่า โรว์แลนด์ส ได้รับคำชมว่าแสดงได้สุดยอดมากใน Crazy in Love ส่วนดาราคนอื่นๆในเรื่องได้แก่บิล พุลล์แมน, จูเลียน แซนด์ส และฟรานเซส แมคดอร์มานด์
http://images.amazon.com/images/P/6302616158.01.LZZZZZZZ.jpg

มาร์ธา คูลลิดจ์ (เกิดปี 1946) เป็นผู้กำกับหนังที่ฝีมือขึ้นๆลงๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ดิฉันชอบหนังเรื่อง Rambling Rose (1991) กับ Introducing Dorothy Dandridge (1999) ของเธอมาก แต่ค่อนข้างเฉยๆกับ The Prince & Me (2004) อย่างไรก็ดี ดิฉันยังไม่ได้ดูหนังที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องของเธอ โดยเฉพาะเรื่อง Not a Pretty Picture (1975) ซึ่งเป็นหนังซ้อนหนัง และเป็นหนังกึ่งสารคดีกึ่งเรื่องแต่ง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตจริงของมาร์ธา คูลลิดจ์ที่ถูกข่มขืนขณะอายุ 16 ปี ในขณะที่มิเชล มาเนนติ สาววัยรุ่นที่รับบทเป็นมาร์ธาในเรื่องนี้ก็เคยถูกข่มขืนในชีวิตจริงเช่นกัน

หนังที่ดิฉันคิดว่าน่าจะพอนำมาดูควบคู่กับ Not a Pretty Picture ได้ก็คือ Things Behind the Sun (2001) ของแอลิสัน แอนเดอร์ส เพราะหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากประสบการณ์จริงของแอนเดอร์สที่เคยถูกข่มขืนเช่นกัน

ส่วน Jesus’Son นั้นอาจไม่ใช่ผลงานการแสดงครั้งสำคัญของฮันเตอร์ เพราะฮันเตอร์แสดงเป็นเพียงตัวประกอบในเรื่องนี้ แต่ดิฉันก็อยากดูหนังเรื่องนี้มากๆค่ะ เพราะว่าบิลลี ครัดอัพ ดาราหนุ่มสุดหล่อได้รับคำชมอย่างรุนแรงมากจากการแสดงนำในหนังเรื่องนี้

BILLY CRUDUP
http://www.geocities.com/hothollywood2000/billy.jpg

Jesus’ Son มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของ FH ชายหนุ่มติดยาในแถบมิดเวสท์ของสหรัฐในช่วงต้นทศวรรษ 1970 โดยจุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่สไตล์และโทนของหนังที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้มีลักษณะคล้าย Drugstore Cowboy (1998, กัส แวน แซนท์) ที่พูดถึงหนุ่มติดยาเสพติด (แมทท์ ดิลลอน) เหมือนกัน

Jesus’ Son ดัดแปลงมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นของเดนิส จอห์นสัน และเป็นผลงานภาพยนตร์สหรัฐเรื่องแรกของแมคลีน ซึ่งเป็นชาวนิวซีแลนด์ โดยก่อนหน้านั้นแมคลีนเคยโด่งดังมากจากการกำกับหนังเลสเบียนเรื่อง Crush (1992)

ผลงานการแสดงที่น่าดูมากๆของฮอลลี ฮันเตอร์ ยังรวมถึงเรื่อง Woman Wanted (1999, ไคเฟอร์ ซูเธอร์แลนด์), Harlan County War (2000, โทนี บิลล์) และ When Billie Beat Bobby (2001, เจน แอนเดอร์สัน)

WOMAN WANTED
http://images.amazon.com/images/P/B00004S5MA.01.LZZZZZZZ.jpg

HARLAN COUNTY WAR
http://images.amazon.com/images/P/B00005KA73.01.LZZZZZZZ.jpg

WHEN BILLIE BEAT BOBBY
http://images.amazon.com/images/P/B0009ML2NS.01.LZZZZZZZ.jpg


14.To Die For (1995, กัส แวน แซนท์)

ดิฉันไม่เคยชอบหน้านิโคล คิดแมนมาก่อนเลยค่ะก่อนที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้ ดิฉันไม่ค่อยชอบผมหยิกๆของเธอ และรู้สึกไม่ถูกโฉลกกับเธอ แต่พอได้ดู To Die For ที่เธอไว้ผมตรงเท่านั้นแหละ ดิฉันก็เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเธอไปในทันที และจนถึงบัดนี้ ดิฉันก็ยังคงชอบคิดแมนในหนังเรื่องนี้มากที่สุด ชอบมากกว่าใน The Hours และ The Others เสียอีก (ดิฉันเคยรู้สึกอย่างนี้กับจูเลีย โรเบิร์ตส์ เหมือนกัน ดิฉันไม่ค่อยชอบเธอเท่าไหร่ แต่พอได้เห็นการแสดงของเธอใน Mary Reilly (1996, สตีเฟน เฟรียร์ส) ดิฉันก็อยากก้มลงกราบเท้าเธอ)

ในเรื่องนี้คิดแมนรับบทเป็นหญิงสาวที่ต้องการจะโด่งดังในวงการโทรทัศน์ แต่เธอวางแผนฆ่าสามี (แมทท์ ดิลลอน) เนื่องจากเธอเห็นว่าสามีทำตัวขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพการงาน โดยเธอหลอกใช้เด็กนักเรียน 3 คนในโรงเรียนมัธยมในการประกอบอาชญากรรมครั้งนั้น

ดิฉันชอบหลายอย่างในหนังตลกร้ายเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงมุกจิกกัดอิทธิพลของโทรทัศน์และค่านิยมชื่นชมคนดัง โดยเฉพาะในฉากจบของเรื่องนี้ที่ตัวละครตัวหนึ่งตั้งคำถามในทำนองที่ว่า “ถ้าหากในอนาคตทุกคนได้มีโอกาสออกโทรทัศน์ แล้วจะเหลือใครกันล่ะที่นั่งชมโทรทัศน์”

บทพูดของนิโคล คิดแมนในเรื่องนี้เป็นบทพูดที่ฮามากค่ะ นั่นก็คือบทพูดที่ว่า “You're not anybody in America unless you're on TV. On TV is where we learn about who we really are. Because what's the point of doing anything worthwhile if nobody's watching? And if people are watching, it makes you a better person.”

อย่างไรก็ดี บทพูดจากหนังปี 1995 เรื่องนี้ ฟังๆดูแล้วก็น่าคิดดีไม่น้อยในยุคที่ reality show กำลังระบาดในปัจจุบัน ทั้งนี้ หนังอีกเรื่องหนึ่งที่พูดถึงความอยากดังและอิทธิพลของโทรทัศน์ก็คือ 15 Minutes (2001, จอห์น เฮิร์ซเฟลด์) แต่ดิฉันรู้สึกว่า 15 Minutes ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่

บทของผู้หญิงที่มีความทะเยอทะยานในวงการโทรทัศน์ของคิดแมนใน To Die For เหมือนกับเป็นขั้วตรงข้ามกับบทของมิเชล ไฟเฟอร์ใน Up Close & Personal (1996, จอน แอฟเน็ท) เพราะในเรื่องนั้นไฟเฟอร์ก็แสดงเป็นผู้หญิงที่ทะเยอทะยานเหมือนกัน แต่เธอค่อนข้างโชคดีกว่าคิดแมนตรงที่เธอได้รับความช่วยเหลือจากพระเอก (โรเบิร์ต เรดฟอร์ด) เป็นอย่างดีในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ

To Die For ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของจอยซ์ เมย์นาร์ด

ฉากหนึ่งที่ชอบมากใน To Die For คือฉากงานศพของตัวละครตัวหนึ่ง เพราะในฉากนั้นคิดแมนเอาเทปเพลงมาเปิดในงานศพอย่างไม่แคร์สายตาใครทั้งสิ้น นอกจากนี้ ดิฉันยังชอบอิลเลียนา ดักลาส ที่รับบทเป็นพี่สาวของแมทท์ ดิลลอนมากค่ะ โดยในเรื่องนี้ ดักลาสมีสภาพเหมือนเป็นลูกเป็ดขี้เหร่เมื่อเทียบกับหงส์แสนสวยอย่างนิโคล คิดแมน และฉากที่ติดตามากที่สุดฉากหนึ่งก็คือฉากงานแต่งงานของคิดแมนที่คิดแมนโยนช่อดอกไม้เจ้าสาวลอยหวือผ่านศีรษะของอิลเลียนา ดักลาสไป

หลังจาก To Die For ดักลาสกับแมทท์ ดิลลอนก็ได้ร่วมงานกันอีกครั้งในหนังเรื่อง Grace of My Heart (1996, แอลิสัน แอนเดอร์ส) โดยหนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติชีวิตของแคโรล คิง

ฮัวควิน ฟีนิกซ์, เคซีย์ แอฟเฟลค, ซูซาน เทรย์เลอร์ และเดวิด โครเนนเบิร์กมาร่วมแสดงใน To Die For ด้วย โดยเคซีย์ แอฟเฟลคได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานกับแวน แซนท์อีกครั้งใน Gerry (2002) ซึ่งเป็นหนังที่แวน แซนท์สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากหนังยุโรป โดยเฉพาะหนังฮังการีของเบลา ทาร์

แวน แซนท์เคยให้สัมภาษณ์ในวิลเลจวอยซ์ในปี 2000 ว่าเขาประทับใจกับภาพยนตร์ฮังการีเรื่อง Satantango (1994) ของเบลา ทาร์เป็นอย่างมาก โดยเขากล่าวว่า "ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยดูหนังที่มีความยาว 7 ชั่วโมงมาก่อน แต่ตอนนี้ผมรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก มันเป็นสิ่งที่เยี่ยมมากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับตัวละครเป็นเวลานานขนาดนั้น ผมเคยดูหนังหลายเรื่องที่มาจากยุโรปตะวันออก และหนังรัสเซียอย่างหนังของอังเดร ทาร์คอฟสกี แต่สำหรับผม เบลา ทาร์คือคนที่เป็นสุดยอดของทั้งหมด บางทีนั่นอาจเป็นเพราะเขามีอายุเท่ากับผม"แวน แซนท์ เคยพยายามติดต่อหาบริษัทให้มาช่วยจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่อง Werckmeister Harmonies (2000) ของเบลา ทาร์ในสหรัฐด้วย แต่เขาพบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก และเขากล่าวเสริมว่า "ที่ฮอลลีวู้ดเรากำลังสร้างหนังด้วยทุนหลายล้านดอลลาร์ แต่เบลา ทาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ กำลังจะถูกธนาคารสั่งยึดหนังของเขาไป และผมรู้สึกอยากส่งเช็คไปให้เขา"

ผลงานการกำกับของกัส แวน แซนท์ ยังรวมถึงภาพยนตร์สั้นเรื่อง The Discipline of DE (1982) ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ของวิลเลียม เอส. เบอโรห์ส และมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสียดสีปรัชญาเซ็น โดยภาพยนตร์เรื่องนี้แนะนำให้ผู้ชมพยายามปรับปรุงการเคลื่อนไหวของตัวเองในระหว่างทำกิจวัตรประจำวันจนการเคลื่อนไหวนั้นอยู่ในภาวะที่สมบูรณ์แบบ "เหมือนกับการถ่ายหนังเทคใหม่ไปเรื่อยๆจนกระทั่งได้เทคที่ถูกต้อง"เอ็ด ฮอลเทอร์ นักวิจารณ์ของนิตยสารวิลเลจวอยซ์ของสหรัฐตั้งข้อสังเกตว่า The Discipline of DE เหมือนกับเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งที่แวน แซนท์ จะทำต่อไปในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาสร้างภาพยนตร์ฟอร์มเล็กอย่างพิถีพิถันและใช้ความประณีต นอกจากนี้ ฮอลเทอร์ยังตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้แวน แซนท์ มักได้รับการยกย่องว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระแส New Queer Cinema แต่ภาพยนตร์ของแวน แซนท์มักสะท้อนภาพของคนที่หลงระเริงไปกับชีวิต และมีความใกล้เคียงกับผลงานของนักเขียนในช่วงก่อนยุคเรียกร้องสิทธิเกย์ โดยเฉพาะผลงานของเบอโรห์ส โดยตัวเบอโรห์สเองนั้นเคยมาร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Drugstore Cowboy (1989) และแวน แซนท์เองก็เคยกำกับมิวสิควิดีโอเพลง Thanksgiving Prayer (1996) ให้กับเบอโรห์ส ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาต่อต้านกระแสรักชาติผลงานอีกเรื่องหนึ่งของแวน แซนท์ คือ Junior the Cat (1988) ซึ่งมีความยาว 3 นาทีและประกอบด้วยช็อตเพียงช็อตเดียว โดยในเรื่องนี้ผู้ชมจะได้เห็นแวน แซนท์ ขณะสะพายกีตาร์และอยู่ในมุมหนึ่งของบ้านในบริเวณที่มีแสงแดดส่องเข้ามา แวน แซนท์จะกล่าวต่อหน้ากล้องว่าแมวของเขาที่ชื่อจูเนียร์ไม่สามารถแยกแยะระหว่างภาพ 2 มิติกับภาพ 3 มิติได้ "เพราะมันเป็นวัยรุ่น"หลังจากนั้นแวน แซนท์ก็เริ่มเล่นกีตาร์เพลงร็อค และแมวจูเนียร์ก็จะเริ่มโลดเต้นไปตามจังหวะเพลงราวกับถูกสั่งมา แต่ที่จริงแล้วแมวตัวนี้กำลังไล่ตามแสงที่สะท้อนออกมาจากกีตาร์ของแวน แซนท์ฮอลเทอร์ตั้งข้อสังเกตว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่มักปรากฏในภาพยนตร์ของแวน แซนท์ก่อนที่เขาจะหันมาสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Good Will Hunting (1997) เพราะภาพยนตร์อินดี้ของแวน แซนท์ มักพูดถึงตัวละครเอกที่พยายามไล่ตามไขว่คว้าบางสิ่งบางอย่างที่ตัวเขาไม่มีทางครอบครองได้เหมือนกับแมวจูเนียร์ที่พยายามไล่จับแสงเงาในเรื่องนี้ และตัวละครของแวน แซนท์ก็มักเป็นตัวละครที่มีสภาพจิตใจหรืออารมณ์เหมือนกับยังเป็นวัยรุ่นภาพยนตร์สั้นเรื่อง My Friend (1988) ของแวน แซนท์มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์ โดยในเรื่องนี้แวน แซนท์แสดงเป็นเกย์ที่สะกดรอบตามชายหนุ่มหน้าตาดีคนหนึ่งก่อนจะถูกต่อยจนตาบวมกลับมา แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้ชมจะไม่ได้เห็นภาพของชายหนุ่มที่ถูกสะกดรอยตามเลย

หนึ่งในภาพยนตร์ยุคแรกที่น่าสนใจที่สุดของแวน แซนท์ก็คือเรื่อง Mala Noche (1985) ซึ่งถ่ายทำที่เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน และเป็นหนังที่ให้อารมณ์สมจริงมาก โดยเมีเนื้อหาเกี่ยวกับวอลท์ (ทิม สตรีทเทอร์) เกย์หนุ่มที่หลงรักชายหนุ่มอายุ 16 ปีจากเม็กซิโกที่ลักลอบเข้าสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย โดยความรักของเขาเป็นความรักข้างเดียววอลท์เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เขาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางคนงานชั่วคราวและคนงานต่างด้าวในพอร์ทแลนด์ และเมื่อเขาได้พบกับจอห์นนี เขาก็ตกหลุมรักจอห์นนีทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีทางที่ความรักของเขาจะได้รับการตอบสนองหนังเรื่องนี้เป็นหนังขาวดำที่เน้นถ่ายทอดอารมณ์เศร้าหมองของวอลท์ ทั้งนี้ นักวิจารณ์บางคนนำหนังเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับ Stranger Than Paradise (1984) ของจิม จาร์มุช เพราะหนังทั้งสองให้อารมณ์สมจริงเหมือนกัน นอกจากนี้ นักวิจารณ์ยังระบุว่าวอลท์เป็นตัวละครเกย์ที่น่ารักและสมจริงที่สุดคนหนึ่งในรอบหลายปี
หนังอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกยกนำมาเปรียบเทียบกับ Mala Noche ก็คือหนังสารคดีเรื่อง Streetwise (1984, มาร์ติน เบล) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตโหดๆและหดหู่ของหนุ่มสาวไร้บ้านในเมืองซีแอทเทิล โดยหนุ่มสาวเหล่านี้ทำงานเป็นแมงดา, โสเภณี, โจร, ขอทาน และคนค้ายาเสพติด ทั้งนี้ Streetwise ได้รับรางวัลสเปเชียล จูรี ไพรซ์ในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม แต่พ่ายแพ้ให้กับหนังสารคดีเกย์เรื่อง The Times of Harvey Milk (ร็อบ เอปสไตน์) ในปีนั้น
Mala Noche หรือ Bad Night แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะตัวของแวน แซนท์ ที่จะปรากฏต่อๆมาในหนังอย่าง Drugstore Cowboy (1989) และ My Own Private Idaho (1991) โดย Mala Noche ดัดแปลงจากชีวิตจริงของวอลท์ เคอร์ติส และเคยได้รับรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์หนังลอสแองเจลิส

กัส แวน แซนท์ ซึ่งเป็นเกย์ มีศักดิ์ศรีเหมือนกับเป็นพ่อของผู้กำกับภาพยนตร์กลุ่ม New Queer Cinema ของสหรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์แนวเกย์เลสเบียนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่ไม่ค่อยนำเสนอตัวละครที่มีนิสัยดีจนเกินไป และไม่ค่อยสร้างภาพยนตร์แนวโรแมนติกหวานใส ภาพยนตร์ของกลุ่มนี้มักจะเน้นความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ, ความกล้าแสดงออก, การยอมรับด้านมืดของชีวิต และการนำเสนอประเด็นที่น่านำมาถกเถียง

ภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “ปู่” ของภาพยนตร์กลุ่มนี้ก็คือ Un Chant d’amour (1950) ของฌอง เฌเนต์ ในขณะที่ Mala Noche (1985) ของแวน แซนท์ และ Parting Glances (1985, บิล เชอร์วูด) ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับหนังเกย์มากมายหลายคนก้าวเข้าสู่วงการในช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนถึงต้นทศวรรษ 1990

ทั้งนี้ ภาพยนตร์สำคัญในกลุ่ม New Queer Cinema ได้แก่เรื่อง

(1) Paris Is Burning (1990, เจนนี ลิฟวิงสตัน)
(2) Poison (1991, ท็อดด์ เฮย์นส์)
(3) The Hours And Times (1991, คริสโตเฟอร์ มึนช์)
(4) Swoon (1992, ทอม คาลิน)
(5) The Living End (1992, เกร็ก อารากี)
(6) Grief (1993, ริชาร์ด แกลทเซอร์)
(7) Go Fish (1994, โรส โทรช)
(8) Postcards from America (1994, สตีฟ แมคลีน)
(9) Frisk (1995, ท็อดด์ เวโรว์)
(10) The Delta (1996, ไอรา แซคส์)
ส่วนภาพยนตร์ที่ช่วยสานต่อแนวทางของหนังกลุ่ม New Queer Cinema ได้แก่เรื่อง

(1) High Art (1998, ลิซ่า โชโลเดนโก)
(2) Boys Don’t Cry (1999, คิมเบอร์ลีย์ เพียร์ซ)
(3) Chuck&Buck (2000, มิเกล อาร์เตตา)
(4) Hedwig and the Angry Inch (2001, จอห์น คาเมรอน มิทเชลล์)
(5) L.I.E. (2001, ไมเคิล เควสตา)
(6) Testosterone (2003, เดวิด มอเรตัน)
(7) Party Monster (2003, เฟนตัน เบลีย์, แรนดี บาร์บาโต)

No comments: