Thursday, May 31, 2007

FILM CENSORSHIP SEMINAR

ข่าวจากเว็บไซท์ ประชาไท

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8274&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

ประชาไท – 30 พ.ค. 50 เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดเสวนา ‘จากเซ็นเซอร์สู่เรตติ้ง ทางออกที่เป็นไปได้’ โดยในเวลา 13.00 น. เป็นการอภิปรายในหัวเรื่อง ‘ภาพยนตร์ศิลปะแขนงที่ 7’


กลุ่มแรกที่รู้ว่า “ภาพยนตร์” มีพลัง คือกลุ่มเจ้า

นายทรงยศ แววหงส์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และงานศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า สังคมไทยอาจมองภาพยนตร์หรือหนังเป็นเพียงเรื่องความบันเทิง แต่ความจริง ในความเป็นหนังมีความคิดอะไรอยู่ในนั้นมาก นอกจากนี้หนังยังเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของสื่อ จากสื่อที่เป็นภาพนิ่ง

นายทรงยศ กล่าวอีกว่า ภาพยนตร์ คือบันทึกความเป็นจริงของสังคม แต่มีอีกบทบาทที่สามารถสร้างความเป็นจริงหรืออะไรก็ตามให้เกิดความน่าเชื่อถือขึ้นมาได้ด้วย จึงทำให้ถูกนำมารับใช้ทางการเมืองค่อนข้างมาก อย่างในปี 1926 ในรัสเซียมีหนังเรื่องแม่ ที่สร้างดัดแปลงมาจากนิยายของแม็กซิม กอร์กี้ ซึ่งสามารถมีพลังทางการเมืองในเวลาต่อมาได้ หนังจึงมีบทบาทสร้างความจริงบางอย่างสำหรับใครก็ตามที่ควบคุมหนังหรืออยากให้ความจริงนั้นก่อเกิดในสังคม

ดังนั้น กลุ่มแรกๆ ในสังคมไทยที่รู้สึกว่าหนังมีความสำคัญมากคือพวกเจ้า และพวกเจ้าก็เป็นกลุ่มแรกที่ควบคุมหนัง เพราะรู้ว่าหนังมีพลังเกินกว่าจะปล่อยสู่มือคนอื่นจึงทำให้เกิด พ.ร.บ.ควบคุมหนังและภาพยนตร์ 2473 (มาตรา 4 ห้ามมิให้ทำหรือฉายหรือแสดงสถานที่มหรสพซึ่งภาพยนตร์หรือประกาศกอบด้วยลักษณะฝ่าฝืนหรืออาจฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ถึงแม้เพียงว่าการทำ การฉาย หรือการแสดงภาพยนตร์ หรือประกาศนั้นๆ น่าจะมีผลเช่นว่านั้น ท่านก็ห้ามดุจกัน) เป็นเครื่องมือห้ามหนังที่บอกว่ามีเนื้อหาคือขัดต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของสังคม หนังเหล่านี้ต้องถูกขจัดไป


เราไม่มีโอกาสได้ดูหนังเป็นศิลปะ

นายนิวัติ กองเพียร นักเขียนและนักวิจารณ์งานด้านศิลปะ กล่าวว่า ศิลปะควรเป็นเรื่องใหญ่สุด แต่บ้านเมืองนี้ไม่มีใครสนใจเลย มันมีความสำคัญถ้าเราทำความเข้าใจเสียแต่แรก และจะไม่มีปัญหาเรื่องเรทติ้งไม่ว่าจะเอาไปใช้ด้านใด นอกจากนี้ ยังควรจะต้องรู้จักศิลปะหมดทุกแขนง โดยหนังถือว่าเป็นที่รวมของศิลปะทุกแขนงไว้ จึงควรใช้หนังมาสอนคนให้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ง่ายสุด และเราจะได้เห็นหลายอย่างในหนัง

นายนิวัติ กล่าวต่อไปว่า เราถูกสอนให้ดูหนังตามที่รัฐบอกว่าอย่างนี้ดูได้ อย่างนี้อย่าดู ซึ่งถือเป็นการปิดบังซ่อนเร้นประชาชน ยิ่งในอดีตจะกำหนดกระทั่งหนังที่จะเข้ามาว่า เรื่องใดฉายได้ เรื่องใดห้าม และเราถูกสอนให้ดูให้รู้เรื่องเท่านั้น แต่การเสนอแบบนั้นคือความเลวร้ายที่สุดจนทำให้คนติดละครโทรทัศน์แบบที่เป็น แบบที่ต้องดูรู้เรื่อง ต้องบอกหมดไม่ว่าจะไปซ้ายหรือไปขวา แต่หนังที่เป็นศิลปะแต่ดูไม่รู้เรื่องนั้นดูไม่ได้

“พอหนังเป็นศิลปะมากขึ้น ทำไมเราดูหนังโป๊ฝรั่งได้ แต่คนไทยโป๊กลับห้าม ทำเบลอคนสูบบุหรี่ แต่ให้เห็นถือบุหรี่ได้ เห็นไฟแช็คได้ ทำแบบนี้มันโง่บัดซบ งี่เง่า ดูถูกคนดูมาก โครตโง่ที่คิดแบบนี้ได้ เป็นทารุณกรรมที่ทำร้ายประชาชนมากที่สุด” นายนิวัติแสดงความเห็นอย่างดุดันปนขันขื่น พร้อมบอกต่อไปว่าที่ผ่านมา เราไม่มีโอกาสได้ดูหนังเป็นศิลปะจริงๆ เลย เราไม่เคยได้ดูหนังดีๆ จากประเทศอื่น เช่น หนังฝรั่งเศสดีๆ หรือหนังสเปนดีๆ เราต้องหาดูเอง ตอนนี้เขาให้ดูแต่หนังเกาหลี


ไม่เอากระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าของการกำหนดนิยาม

ด้านมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินภาพถ่าย กล่าวถึงประเด็นศิลปะกับรัฐธรรมนูญว่า รัฐสภาเชิญตัวแทนเครือข่ายศิลปินไปเสนอความเห็นว่า มองรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไร คิดว่าการไปให้ความเห็นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันบ่อยๆ ในหมู่ผู้ร่างกฎหมาย ต้องไปชี้ประเด็นว่า ศิลปวัฒนธรรมคือภาพสะท้อนของเสรีภาพและประชาธิปไตย ในนานาประเทศนั้น หากจะดูว่าประเทศใดเสรีภาพก้าวหน้าอย่างไร เขาจะไปดูที่ภาพยนตร์หรืองานศิลปะ

ดังนั้น ถ้าพูดถึงศิลปวัฒนธรรมเพียงแค่เรื่องการแต่งกาย เป็นการมองที่ผิวเผินมาก เพราะศิลปวัฒนธรรมคือเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นเรื่องสิทธิพื้นฐานการมีชีวิตด้านการแสดงออก ต้องมองมากกว่าการรำการฟ้อน จึงหวังว่าคณะร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าใจว่าศิลปวัฒนธรรมคือกระจกสะท้อนประชาธิปไตย

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ต้องทลายกำแพงนิยามด้วย ประชาชนต้องมีสิทธินิยามอะไรของประชาชนได้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องนิยามว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องสิทธิชุมชนด้วย เพื่อให้กลุ่มอื่นๆ สามารถเสนอนิยามศิลปวัฒนธรรมอันเป็นสิทธิได้ ไม่ใช่ให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าของการกำหนดนิยามเจ้าเดียว มิฉะนั้นมีอะไรก็เซ็นเซอร์หมด

อย่างไรก็ตาม นายมานิต ทิ้งท้ายว่า แม้จะรู้ว่าต่อไปร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คงลงชักโครก แต่คนร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทยมันมีกลุ่มเดียว เพียงแต่เปลี่ยนหัวเท่านั้น ดังนั้นเดี๋ยวก็กลับมาร่างใหม่ จึงต้องพูดเรื่องศิลปวัฒนธรรมให้กลุ่มนี้ฟังบ่อยๆ

“หลังรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมเปลี่ยนไปมาก เพียงเราบรรจุถ้อยคำบางอย่างมันก็เปลี่ยนโลกทัศน์คน ถ้าเรามองไม่เห็นจุดสีแดงเล็กๆ ในสีดำ เราก็เติมสีแดงๆ ไปเยอะๆ คนจะได้เห็นสีแดงนั้น ขยายนิยามให้ประชาธิปไตยอยู่ที่เราเสียที ไม่ใช่อยู่เพียงในสภา” นายมานิตกล่าว


ต่อต้านการเซ็นเซอร์ ต้องไม่หยุด ไม่ยอมแพ้

หลังจากนั้น เป็นวงเปิดให้ผู้มาร่วมถามหรือแสดงความเห็น หลายคนแสดงความอึดอัดต่อการเซ็นเซอร์หนัง นายมานิตจึงเสริมว่า เขาคงไม่อยากให้กระจกสะท้อนความจริงที่เขากลัว ศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังก็โดนเซ็นเซอร์ การเซ็นเซอร์มีตลอดเวลา มีทุกจุด แต่ภาพยนตร์มีคณะกรรมการหรือบอร์ดควบคุมชัดเจน แต่เวลานี้การเซ็นเซอร์แบบไม่มีบอร์ดเต็มไปหมด จึงไม่แปลกใจที่มีการเซ็นเซอร์ภาพบุหรี่แบบเบลอไปครึ่งจอ มันงี่เง่า โง่แบบนี้ เรายอมให้คนโง่ปกครองประเทศได้อย่างไร เป็นสิทธิเราที่จะบอกว่าพวกโง่ๆ มันออกมาได้แล้ว อย่าเข้าไปเลยในสภา

นายมานิต แสดงความเป็นห่วงต่อไปว่า ขณะนี้การเซ็นเซอร์ขยายตัว จากองค์กรเซ็นเซอร์สู่ Self Censor (การเซ็นเซอร์ตัวเอง) ที่แต่ละคนเริ่มมีความเห็นไปทุกเรื่องจนละเมิดเสรีภาพคนอื่นไปหมด ไม่รู้ว่าทำไมจึงเกิดพัฒนาการแบบนี้ขึ้น การเซ็นเซอร์ไปสู่ข้างนอกที่มีคนมาคอยถือป้ายคอยสะกิดให้เซ็นเซอร์

อย่างเช่น กรณี ไมเคิล เชาวนาศัย ศิลปิน แต่งตัวเป็นพระในการแสดงงานศิลปะก็มีคนถือป้ายเป็นผู้พิทักษ์ศาสนามาร้องเรียน หรือกรณีหนัง ‘แสงศตวรรษ’ ของผู้กำกับภาพยนตร์อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่มีฉากแค่พระเล่นกีตาร์ก็โดนเซ็นเซอร์ ดังนั้น นอกจากการแก้กฎหมายแล้ว ทำอย่างไรการเซ็นเซอร์ด้วยทัศนคติที่คับแคบจึงจะถูกทลายไปได้

จากนั้น นิวัติ ได้เสนอทางออกว่า วิธีการเซ็นเซอร์แบบนี้มีนานแล้ว แต่เราต้องใช้วิธียืนยันปฏิเสธสิ่งที่เขาปฏิเสธเรา ถ้าเรามีกลุ่มก้อนที่แข็งแรง อาจจะต้องมีโรงฉายหนังของอภิชาติพงศ์โดยเฉพาะ เช่นจัดฉายใน มหาวิทยาลัย อาทิตย์ละสองรอบ โดยไม่ฉายที่สาธารณะ หรืออาจมีสื่อมวลชนช่วยเสริมโดยบอกว่าถ้าอยากดูหนังของอภิชาติพงศ์ให้ไปดูที่นั่นที่นี่ ต้องไม่หยุดหรือยอมแพ้ เราต้องมีคนถือป้ายเหมือนกัน เพราะเราต้องนึกเสมอว่าเราอยู่ในประเทศไทย ที่มีอะไรแปลกๆ และประหลาดมาตลอด เราจึงต้องประหลาด แปลกๆ เหนือเขา

ดังนั้น หนังของอภิชาติพงศ์อาจจะฉายที่แกลอรี่ แล้วให้อภิชาติพงศ์เอากระป๋องวางไว้หน้าแกลอรี่บอกกันว่ารวมเงินใส่กระป๋องให้อภิชาติพงศ์ อาจจะราคาเท่าโรงหนังเลยก็ได้ สมัยเรียนหนังสือเคยทำแบบนี้ นำหนังอาร์ตไปฉายที่หอเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องนี้ทำได้แต่อยู่ที่เราจะทำหรือไม่ ยังคิดวิธีสู้กับรัฐตลอดเวลา ระบบบราชการอย่าไปสนใจ เราก็ทำของเราไป

นายมานิต กล่าวว่า ต้องล้ม พ.ร.บ. ควบคุมหนังและภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 ก่อน เพราะมันขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ที่เป็นกฎหมายแม่ เราสามารถเข้าชื่อและยื่นศาลรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ชำระได้ตั้งแต่วันแรกที่สภาเปิดให้เดินเข้าไปเลย ทั้งรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้

นายนิมิตร์ เทียนอุดม จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า แม้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องถามว่าคนทำหนังมีอะไรอยู่ในมือที่จะเปลี่ยนสังคมโดยคู่ขนานไปกับการเล่นกับนักกฎหมายหรือนักการเมืองบ้าง

คิดว่าการมีคอลัมน์ของนิวัติ ในมติชนสุดสัปดาห์นั้น มีนัยยะทางสังคม เพราะมันทำให้การพูดเรื่องเพศและการดูนู้ดออกมาสู่ที่แจ้งมากขึ้น มันเกี่ยวข้องกับการเซ็นเซอร์ การไม่พูด ในสังคมไทยที่ไม่ใช่สังคมแห่งการเรียนรู้ การมีคอลัมน์เล็กๆ นี้มันเปิดโอกาสให้เรียนรู้บ้าง

“ผมไม่เกี่ยวในฐานะคนทำหนัง แต่อยากเปลี่ยนวิธีคิดลบๆ ของคนในบางเรื่อง เช่น เรื่องการไม่สังสรรค์กับคนเป็นเอดส์ การพูดเรื่องเพศมากขึ้น พอเปิดทัศนะมากขึ้น เราก็สามารถพูดเรื่องเอดส์และเพศในที่สาธารณะได้มากขึ้น ถ้าเราอยากมีเสรีภาพ เราต้องใช้เครื่องมือของคนทำหนัง นั่นคือเรื่องที่คุณสร้างไป”นายนิมิตร์กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ถ้าคนกลัวการเห็นจู๋เห็นจิ๋มมาก ก็อยากให้คนค่อยๆ เห็นไป ตรงนี้ในความเป็นหนังทำอย่างไร ทำคู่กันไปกับทางกฎหมาย อาจต้องใช้เวลา อาจมีคอลัมแบบนิวัติให้มากขึ้น อาจต้องมีหนังที่พูดเรื่องการเซ็นเซอร์มากขึ้น เพราะถ้าไม่ใช้หนังพูด เราก็จะเจอกฎหมายห่วยแตก

No comments: