Sunday, June 03, 2007

WHAT I SEE, THE FEELINGS THEY HAVE, THE THINGS THEY HAVE TO DO (A+)


ดิฉันเคยเขียนถึงผลงานศิลปะ “สิ่งที่ฉันเห็น ความรู้สึกที่เขาเป็น สิ่งที่เขาต้องทำ” ของคุณพรพรรณ เกียรติภาคภูมิไว้ใน link ข้างล่างนี้
http://celinejulie.blogspot.com/2007/03/favorite-artist-pornpan-kiatparkpoom.html

อันนี้เป็นความรู้สึกที่ดิฉันมีต่อผลงานดังกล่าวค่ะ

1.มันดูดำๆเขรอะๆ สกปรกๆ เหมือนฉากหนังสยองขวัญ แต่ดิฉันกลับรู้สึกว่ามันมีความงามบางอย่างอยู่ในนั้น และดิฉันมักจะทึ่งกับผลงานแบบนี้เป็นอย่างมาก ผลงานที่ทำให้สิ่งที่ไม่สวยงามกลายเป็นสิ่งที่สวยงามได้ในแบบของมันเอง

2.มันดูแปลกตาไปจากคำว่า “งานศิลปะ” ที่ดิฉันคุ้นเคย จริงๆแล้วดิฉันแทบไม่รู้จักงานศิลปะดีเท่าไหร่นัก แต่เท่าที่เคยดูมา ก็ไม่เคยเจอผลงานที่ดูเหมือนเศษเหล็กหรืออุปกรณ์โรงงานแบบนี้มาก่อน แถมเป็นเศษเหล็กที่มีใบหน้าคนฝังอยู่ข้างในนั้นด้วย

3.ชอบประเด็นของงานนี้ จริงๆแล้วดิฉันก็ไม่รู้ว่าตัวเองเข้าใจจุดประสงค์ของผู้สร้างงานได้อย่างถูกต้องหรือเปล่า แต่ชอบประเด็นของงานที่ดูเหมือนเป็นการนำเสนอชีวิตชนชั้นแรงงาน โดยไม่ได้นำเสนอในแบบเชิดชูอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งมันอาจจะทำให้ดูตื้นเขินหรือโจ่งแจ้งเกินไปจนขาดความน่าสนใจ แต่ดิฉันรู้สึกว่ามันเป็นการนำเสนอในแบบที่แสดงให้เห็นถึงความรักในเพื่อนมนุษย์ที่เป็นชนชั้นแรงงาน โดยไม่ได้มีการ “สั่งสอน” ผู้ชมงานว่าพวกเขาต้องคิดหรือต้องรู้สึกอย่างไร

จุดนี้คือจุดที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งที่ทำให้ดิฉันชอบงานชิ้นนี้ เพราะถ้าหากวัดจากรสนิยมส่วนตัวแล้ว ดิฉันไม่ค่อยชอบงานศิลปะประเภท “สั่งสอนศีลธรรม” สักเท่าไหร่นัก แต่ดิฉันกลับพบว่างานศิลปะแบบนี้มีอยู่เยอะมากในประเทศไทย ทั้งในระดับอาจารย์และนักศึกษา งานศิลปะแบบนี้มีจุดประสงค์ที่ดี และมักจะมีเนื้อหาต่อต้านความเลว, ทุนนิยม, บริโภคนิยม, ภาวะโลกร้อน แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าดิฉันเป็น “คนเลว” ก็ได้มั้ง ดิฉันจึงไม่ค่อยถูกโฉลกกับงานศิลปะแบบนี้เท่าใดนัก ดิฉันรู้สึกเหมือนกับว่า “ดิฉันรู้เรื่องพวกนี้ดีอยู่แล้ว” ดิฉันรู้อยู่แล้วว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องไม่ดี เพราะฉะนั้นการมีคนมาบอกในสิ่งที่ดิฉันรู้อยู่แล้วมันจึงทำให้ดิฉันรู้สึกเบื่อ แต่นั่นคงไม่ใช่ความผิดของผู้สร้างงานแต่อย่างใด สาเหตุที่ดิฉันไม่ค่อยชอบงานแบบนี้เป็นเพียงเพราะว่า ดิฉันไม่ใช่ “กลุ่มเป้าหมาย” หรือ “กลุ่มผู้รับสาร” ของงานศิลปะนั้นเท่านั้นเอง

แต่ผลงานศิลปะของคุณพรพรรณกลับไม่ทำให้ดิฉันรู้สึกเช่นนั้น ดิฉันรู้สึกว่ามันง่ายถ้าหากจะสร้างผลงานประเภทที่บอกว่า “ชนชั้นแรงงานดี ชนชั้นนายทุนเลว นายทุนจงพินาศ” หรือ “ชนชั้นแรงงานช่างน่าสงสาร น่าเวทนา ชีวิตพวกเขาลำบากยากแค้นแสนเข็ญ” หรืออะไรทำนองนี้ แต่ผลงานของคุณพรพรรณกลับไม่ได้สั่งสอนผู้ชมงานด้วยสโลแกนสำเร็จรูปแบบนั้น ผลงานของคุณพรพรรณเปิดโอกาสให้ผู้ชม “รู้สึก” กับงานได้ตามแบบที่ผู้ชมต้องการ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมค้นหา “ข้อคิด หรือบทเรียน” ที่ได้รับจากงานศิลปะนั้นได้ด้วยตัวเอง ดิฉันรู้สึกว่าผลงานชิ้นนี้ของคุณพรพรรณทำให้ผู้ชมเกิดความรัก, เห็นใจ และชื่นชมในเพื่อนมนุษย์ที่เป็นชนชั้นแรงงาน โดยไม่ได้มีการ “ยัดเยียด” เลยแม้แต่นิดเดียวในการทำให้ผู้ชมรู้สึกเช่นนั้น

4.รู้สึกว่าคุณพรพรรณเก่งมากค่ะในการทำให้ “วัตถุ” ที่ดูเหมือนไม่มีชีวิต กลับ “อัดฝังแน่น” ไปด้วยชีวิตอยู่ในนั้น คุณสมบัติข้อนี้ทำให้การดูงานของคุณพรพรรณเป็นงานที่ทำให้รู้สึกอยากยืนดูนานๆโดยไม่รู้สึกเบื่อเลยค่ะ มันเหมือนกับการได้ดูภาพเหมือนของจิตรกรชื่อดังบางคนที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่ภาพเหมือน แต่มันมี “ชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก อดีต ความเจ็บปวด ความเศร้า ความสุข” อยู่ในภาพวาดใบหน้าคนภาพนั้น

5.ชอบผลงานชิ้นนี้มากเพราะมันทำให้สิ่งที่ดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวัน กลายเป็นสิ่งที่ดู “สวยงาม” ขึ้นมาได้ ผลงานชิ้นนี้ทำให้ “สนิมบนแผ่นเหล็ก” กลายเป็นสิ่งสวยงามได้ ทำให้ “สิ่งผุๆพังๆ” กลายเป็นสิ่งสวยงามได้

สรุปว่าดิฉันชอบผลงานของคุณพรพรรณเพราะว่ามันทั้ง “สะดุดตา”, “แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร”, “ทรงพลัง”, “จ้องได้นานๆโดยไม่รู้สึกเบื่อ”, “มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ”, “ให้แง่คิดที่ดี” และ “ไม่ยัดเยียด” ค่ะ การได้ชมผลงานของคุณพรพรรณทำให้ดิฉันรู้สึกเหมือนตัวเองได้เปิดประสาทรับรู้ทางดวงตาให้ขยายกว้างมากยิ่งขึ้น ผลงานชิ้นนี้ทำให้ดวงตาของดิฉันสามารถมองเห็นความงามในวัตถุธรรมดาในชีวิตประจำวัน, ความงามในวัตถุที่ดูเหมือนอัปลักษณ์ และความงามในเพื่อนมนุษย์ชนชั้นแรงงาน และดิฉันก็หวังว่าจะมีผลงานศิลปะแบบนี้ออกมาอีกในอนาคตค่ะ

No comments: