Tuesday, August 06, 2013

BLACK STAR (2013, Wasuthorn Piyarom, 38min, A+15)


BLACK STAR (2013, Wasuthorn Piyarom, 38min, A+15)

 

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า เราไม่ได้เข้าใจหนังเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่เราก็ชอบหนังเรื่องนี้มากๆนะ ด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เข้าใจหนังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเขียนต่อไปนี้ จึงไม่ใช่การพยายามจะตีความว่าหนังเรื่องนี้ต้องการสื่ออะไร แต่เป็นการจดบันทึกว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงประเด็นอะไรบ้าง โดยที่ผู้สร้างหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจแต่อย่างใดจ้ะ

 

จริงๆแล้วอยากอ่านที่คนอื่นๆเขียนถึงหนังเรื่องนี้มากกว่า เพราะเราว่าหนังเรื่องนี้มันกระตุ้นการตีความหรือกระตุ้นความคิดมากๆเลย เราว่าหลายๆคนน่าจะเข้าใจหนังเรื่องนี้มากกว่าเรา เราชอบสิ่งที่นนทัชเขียนถึงหนังเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นสำคัญของหนัง


 

และก็ชอบที่เต้ ไกรวุฒิตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ด้วย ที่ว่าฉากสัมภาษณ์พี่สะใภ้ของคนตาย มันทำให้นึกถึงลักษณะการสื่อสารกันใน dramaadditcts คือตัวเราเองคงไม่สามารถตั้งข้อสังเกตแบบนี้ได้แน่นอน เพราะเราไม่คุ้นเคยกับเว็บไซท์นั้น และเราก็ไม่มีความคุ้นเคยกับการสื่อสารของเด็กยุคใหม่สักเท่าไหร่ด้วย

 

สิ่งที่เราชอบใน BLACK STAR (โดยที่ผู้สร้างหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ)

 

1.หนังเรื่องนี้มันอาจจะล้อตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ คือตอนที่มีการพูดถึง “ชายชุดดำ” ในหนังเรื่องนี้ ปฏิกิริยา reflex ของเราคือการตั้งคำถามขึ้นมาในหัวโดยทันทีว่า “หนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับการเมืองหรือเปล่า” แล้วเราก็พยายามหาสัญญะทางการเมืองในหนัง ก่อนที่เราจะนึกขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่เราพยายามจะทำกับหนังเรื่อง BLACK STAR ในขณะนั้น บางทีอาจจะไม่ได้ต่างไปจากสิ่งที่ผู้อ่านนิยายเรื่อง BLACK STAR ทำกับตัวนิยายและพระเอกหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือการตีความที่คลาดเคลื่อนไปจากจุดประสงค์เดิมของผู้ประพันธ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพยายามโยงเข้ากับเหตุการณ์จริงที่ตัวผู้อ่านคุ้นเคย บางทีหนังเรื่อง BLACK STAR อาจจะดัดแปลงมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้สร้างหนังกับเพื่อนๆของเขา เหมือนกับนิยายที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ก็ได้  และการตีความหนังเรื่องนี้โดยโยงเข้ากับการเมือง อาจจะส่งผลให้ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ประสบกับอันตรายเหมือนพระเอกหนังเรื่องนี้ก็ได้ ฮ่าๆๆ

 

เราชอบจุดนี้มากๆ ตรงที่ว่าปฏิกิริยาของเราที่มีต่อหนังที่เราดู มันเหมือนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ไปแล้ว มันเหมือนผู้สร้างหนังเดาถูกล่วงหน้าว่าผู้ชมจะมีปฏิกิริยายังไง แล้วนำเอาปฏิกิริยานั้นมาดัดแปลงเป็นเนื้อหาของหนังไปเลย ซึ่งจริงๆเราก็ไม่รู้หรอกว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้ตั้งใจทำแบบนี้หรือเปล่า แต่เราคิดว่าจุดนี้มันเป็นจุดที่เราไม่ค่อยเจอในหนังเรื่องอื่นๆ

 

2.ชอบการตีความแบบเข้าใจผิดของบรรดาผู้อ่านนิยายในหนังเรื่องนี้ ในแง่นึงเราว่ามันเป็นเรื่องปกติของงานศิลปะนะ ที่ผู้เสพศิลปะไม่ได้เข้าใจจุดประสงค์แท้จริงของผู้สร้างงานสักเท่าไหร่ ซึ่งความเข้าใจผิดนั้นในบางครั้งมันก็นำมาซึ่งผลดี เหมือนความโด่งดังและชื่อเสียงที่ตัวพระเอกได้รับในช่วงนึง แต่ในบางครั้งมันก็นำมาซึ่งผลร้ายได้เหมือนกัน (โดยเฉพาะการตีความหนังเรื่องนึงในแง่การเมืองทั้งๆที่ตัวผู้สร้างไม่ได้ตั้งใจ หรือการตีความข้อความอะไรบางอย่างว่าหมายถึงคนบางคน ทั้งๆที่ตัวผู้เขียนข้อความไม่ได้ตั้งใจพาดพิงถึงบุคคลคนนั้น)

 

3.หนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงประเด็นเรื่อง identity ในหลายๆแง่มุม อย่างเช่น

 

3.1 การลอกเลียน identity ของผู้อื่นด้วยความตั้งใจ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เด็กวัยรุ่นหลายคนทำ เพราะยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ก็เลยต้องลอกเลียนแบบเพื่อนๆไปก่อน

 

3.2 พระเอกเหมือนจะแก้ปัญหาใน 3.1 ได้สำเร็จ ด้วยการสร้าง identity ของตัวเองขึ้นมาได้ แต่ก็เจอปัญหาอื่นๆตามมา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่เราชอบมากๆ เพราะมันทำให้หนังเรื่องนี้ไปไกลกว่าหนังอีกหลายๆเรื่องน่ะ คือหนังสั้นหลายๆเรื่องมักจะสอนแค่ว่า “เราต้องเป็นตัวของตัวเอง อย่าทำตามคนอื่น” แต่หนังเรื่อง BLACK STAR ดูเหมือนจะไปไกลกว่านั้น เพราะพระเอกดูเหมือนจะเป็นตัวของตัวเองได้แล้ว แต่ก็เจอปัญหาใหม่อยู่ดี

 

3.3 การซ้ำกันของ identity โดยไม่ได้ตั้งใจ เหมือนการที่ตัวละครที่พระเอกสร้างขึ้น ไปคล้ายกับบุคคลที่มีอยู่จริง ทั้งๆที่พระเอกไม่ได้ตั้งใจ

 

3.4 ตอนแรกเรางงเหมือนกันว่าทำไมพระเอกถึงกลายร่างเป็นชายชุดดำในช่วงท้ายเรื่อง แต่พออ่านสิ่งที่นนทัชเขียนก็เลยเข้าใจมากขึ้นจ้ะ

 

3.5 ปัญหาเรื่อง identity ในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะโลกออนไลน์ ซึ่งเราชอบประเด็นนี้ในหนังเรื่องนี้มากๆนะ เพราะมันทำให้เรานึกถึงปัญหาหลายๆอย่างในชีวิตจริงของเรา ซึ่งทางผู้สร้างหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจพูดถึงประเด็นนี้ก็ได้

 

เราชอบประเด็นเรื่องปริศนาชายชุดดำ และการปรากฏตัวของชายชุดดำหลายๆคนในช่วงท้ายเรื่อง ทั้งตัวจริงและตัวปลอมน่ะ คือเราไม่เข้าใจหรอกว่า จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ต้องการสื่อถึงอะไรผ่านทางตัวละครชายชุดดำเหล่านี้ แต่มันทำให้เรานึกถึงปริศนาหลายๆอย่างในโลกออนไลน์ อย่างเช่น

 

3.5.1 ปริศนาที่ว่าใครคือเจ้าของเพจ มานีมีแชร์

 

3.5.2 ปริศนาที่ว่าใครคือ Viriyaporn Boonprasert และ Viriyaporn Boonprasertมีคนเดียวหรือหลายคน

 

3.5.3 ปริศนาที่เก่าหน่อย ก็คือปริศนาที่ว่า ใครคือ “สาวรกโลก” ในเว็บบอร์ดไบโอสโคปเมื่อ 10 ปีก่อน เราจำได้ว่า ตอนนั้นเรากับเพื่อนๆ cinephiles เคยพยายามตั้งข้อสันนิษฐานกันไปต่างๆนานาว่า สาวรกโลกอาจจะเป็นคนนั้นหรือคนนี้ที่มาดูหนังที่ห้องสมุดมหาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้

 

ชายชุดดำในหนัง มันทำให้เรานึกถึงความลึกลับของตัวตนในโลกออนไลน์น่ะ เพราะโลกออนไลน์มันเป็นโลกที่ทำให้เราสร้าง identity ปลอมขึ้นมาได้ง่าย, เป็นโลกที่เราต้องเผชิญกับ identity ปลอมมากมาย และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าแต่ละ identity นั้น คนที่อยู่เบื้องหลังเป็นคนดีหรือคนเลว และประกอบด้วยคนกี่คนกันแน่

 

4.หนังเรื่องนี้ unpredictable สำหรับเรานะ เพราะตอนแรกเรานึกว่า

 

4.1 มันจะเป็นหนัง homoerotic

 

4.2 หรือว่ามันจะเป็นหนังทริลเลอร์แบบ SINGLE WHITE FEMALE (1992, Barbet Schroeder) ที่เป็นเรื่องของการลอกเลียน identity

 

4.3 พอผ่านพาร์ทแรกไป เราก็นึกว่ามันจะเป็นหนัง superhero แบบ KICK-ASS แต่มันก็ไม่ใช่อยู่ดี

 

ในท้ายที่สุด เราก็มองว่ามันเป็นหนังเซอร์เรียลหน่อยๆ ที่กระตุ้นความคิดผู้ชมมากพอสมควร แต่ทำออกมาในโทนน่ารักๆ

 

5.หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่เราได้ดูที่พูดถึงนักเขียนนิยายออนไลน์

 

6.ตัวละครผู้ชายที่เป็นแฟนผลงานของพระเอก มันทำให้เรานึกถึงตัวเองนิดนึง ฮ่าๆๆ ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด พระเอกหนังเรื่องนี้ไม่ใช่นักเขียนที่โด่งดังในวงกว้าง แต่เป็นนักเขียนที่มีแฟนผลงานกลุ่มนึงติดตามอย่างเหนียวแน่น เหมือนเป็น niche market น่ะ ซึ่งเราว่าโลกยุคปัจจุบันนี้โดยเฉพาะโลกออนไลน์ มันมี niche market แบบนี้เยอะดี

 

ฉากที่พระเอกเจอแฟนผลงานคนนึงมาคุยที่หน้าหอกลางจุฬา พร้อมกับมีกล้องวิดีโอถ่ายไว้ มันทำให้เรานึกถึงตัวเองตอนที่คลั่งไคล้หนังของผู้กำกับบางคนอย่างเช่นเฉลิมเกียรติ แซ่หย่องมากๆ ฮ่าๆๆ

 

สรุปว่าสิ่งที่เราเขียนมาทั้งหมดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่อแต่อย่างใดจ้ะ แต่เป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงโดยที่ผู้สร้างหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ในแง่นึงเราก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนที่อ่านนิยายของพระเอกในหนังเรื่องนี้ เราไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้สร้างงาน สิ่งที่เราทำโดยอัตโนมัติก็คือการพยายามโยงนิยาย/หนังที่เราได้เสพเข้ากับอะไรบางอย่างที่ใกล้ตัวเราที่สุดจ้ะ ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันก็ตาม

No comments: