Saturday, October 12, 2013

LOVE SYNDROME (2013, Pantham Thongsang, A+25)

 
LOVE SYNDROME (2013, Pantham Thongsang, A+25)
 
SPOILERS ALERT
 
หนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ฉากไคลแมกซ์ของพริกแกงทำให้เราร้องห่มร้องไห้ ส่วนของพริกแกงอาจจะเป็นส่วนที่ทำให้เรารู้สึกอินที่สุดก็ได้มั้ง เพราะมันเป็นเรื่องของคนที่รักเขาข้างเดียว และถึงรู้ว่าเขาไม่มีทางรักเรา เราก็ยังตัดใจได้ยากอยู่ดี
 
2.อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราชอบส่วนของพริกแกงมากๆอาจจะเป็นเพราะว่า มันเป็นเรื่องของคนที่ปฏิเสธเหตุผลอย่างสิ้นเชิง คือถ้าหากเธอเป็นคนมีเหตุผล เธอก็คงตัดใจจากเต็งหนึ่งไปตั้งแต่ตอนกลางเรื่องแล้ว แต่เธอกลับตัดสินใจทำในสิ่งที่ไร้เหตุผลหรือดูโง่มากๆต่อไปเรื่อยๆ เราก็เลยอินกับเธอ เพราะเราเป็นคนที่ไร้เหตุผลเหมือนกัน
 
3.การที่เราอินกับความไร้เหตุผลของตัวละครพริกแกง มันทำให้เรารู้สึกประหลาดดี เพราะโดยปกติแล้วเรามักจะอินกับตัวละครหญิงแนวนี้ที่ตกหลุมรักผู้ชายที่เลวมากๆ และยอมอุทิศตัวเพื่อผู้ชายเลวๆ ทั้งๆที่ถ้าหากพวกเธอเป็นคนมีเหตุมีผล พวกเธอก็ไม่น่าจะเลือกถวายชีวิตให้กับผู้ชายเลวๆแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจดีที่ตัวละครพริกแกงมันมีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างกันอย่างมากกับตัวละครหญิงกลุ่มนี้ โดยส่วนที่คล้ายกันก็คือการอุทิศตัวเพื่อความรักทั้งๆที่ตามหลักเหตุผลแล้วมันไม่สมควรทำ และส่วนที่ต่างกันก็คือตัวละครชายที่เป็น object of desire ในหนังเรื่องนี้ มันไม่ใช่ผู้ชายเลวๆแบบที่เราเห็นในหนังเรื่องอื่นๆ มันเป็นผู้ชายที่หลอกผู้หญิงเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน แต่ก็ไม่ได้หลอกในแบบที่มุ่งร้ายหรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตของผู้หญิงเหมือนในหนังเรื่องอื่นๆ
 
ตัวละครหญิงประเภทไร้เหตุผลที่เรามักอินด้วยในกลุ่มนี้ก็คือตัวละครหญิงในหนังเรื่อง
 
3.1 LOVE CONQUERS ALL (2006, Tan Chui Mui, Malaysia)
 
3.2 ROBERTO SUCCO (2001, Cédric Kahn) รับบทโดย Isild Le Besco
 
3.3 RIGHT NOW (2004, Benoît Jacquot) รับบทโดย Isild Le Besco
 
3.4 DEEP IN THE WOODS (2010, Benoît Jacquot) รับบทโดย Isild Le Besco
 
4.สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราร้องไห้กับฉากไคลแมกซ์ของพริกแกง อาจจะเป็นเพราะวิธีการแสดงความในใจในส่วนนี้เป็นวิธีที่โดนใจเราที่สุดด้วย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอีกสองวิธีแสดงความในใจในส่วนของอาร์มและโจ โดยในส่วนของโจนั้น วิธีแสดงความในใจคือการพูดผ่านละครเวที ซึ่งเป็นวิธีที่เรารู้สึกชอบในระดับปานกลาง ส่วนวิธีแสดงความในใจในส่วนของอาร์มคือการจัดฉากอลังการที่สนามบิน ซึ่งเป็นวิธีที่เรารู้สึกอี๋มากพอสมควร
 
ส่วนวิธีของพริกแกงที่โดนใจเรามากๆ คือการร้องเพลงด้วยเสียงสั่นเครือโดยไม่มีดนตรีประกอบ เราไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงชอบวิธีการแบบนี้ แต่ฉากร้องเพลงด้วยเสียงสั่นเครือแบบนี้เคยทำให้เราร้องไห้อย่างรุนแรงมาแล้วในหนังอีกสองเรื่อง ซึ่งก็คือเรื่อง
 
4.1 COLD HOMELAND (1995, Volker Koepp, Germany, documentary)
 
4.2 BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder, West Germany)
 
5.ที่เราบอกว่าเราอี๋กับวิธีการแสดงความในใจของอาร์มที่สนามบิน เราหมายถึงว่าเราไม่ชอบการกระทำของ “ตัวละคร” ตัวนี้นะ เราไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่ชอบการมีฉากนี้อยู่ในหนัง คือถ้าหากเราเป็นพลอยพิณ แล้วเจออาร์มมาจัดฉากอะไรอย่างนี้ที่สนามบิน เราก็อาจจะตอบอาร์มไปในทันทีว่า “ไม่” แล้วก็จบกันไป เพราะถ้าหากเราอยู่ในสถานะอย่างพลอยพิณ ที่ดูเหมือนจะมีทางเลือกหลายๆทางในชีวิต (เช่นเลือกว่าจะอยู่ไทยหรือออสเตรเลียก็ได้ และดูเหมือนเป็นคนที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน) เราก็อาจจะขอเลือกอยู่ตัวคนเดียวดีกว่ามาใช้ชีวิตอยู่กับผู้ชายที่จัดฉากอะไรแบบนี้
 
6.ส่วนการมีฉากสนามบินอยู่ในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เรารู้สึกประหลาดดี เราสนใจมันในแง่ที่ว่า ในช่วงวินาทีแรกๆเราเข้าใจผิดว่าหนัง shift mode ไปเป็น musical หรือเป็นหนังอินเดีย ที่มีการใส่ฉากร้องเพลงเต้นรำเข้ามาในหนัง โดยที่เนื้อหาในฉากนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการสะท้อนความรู้สึกข้างในของตัวละคร
 
แต่พอดูไปเรื่อยๆ เราก็พบว่าหนังไม่ได้ shift mode ไปแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นในฉากนี้ยังคงเป็น realistic เหมือนฉากอื่นๆในเรื่อง เราก็เลยรู้สึกอี๋กับการกระทำของอาร์ม แล้วเราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจดี คือถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นในฉากนี้เป็นแฟนตาซีรุนแรงแบบที่เราเจอประจำในหนังอินเดีย เราก็คงชอบฉากนี้มากๆ แต่พอสิ่งที่เกิดขึ้นในฉากนี้เป็น realistic เรากลับรู้สึกอี๋กับการกระทำของตัวละคร
 
การจัดฉากของอาร์มที่สนามบิน ทำให้เรานึกถึง DON’T GO BREAKING MY HEART (2011, Johnnie To, A+10) ด้วยเหมือนกัน เพราะในหนังเรื่องนั้นก็มีตัวละครที่ใช้วิธีการเว่อร์ๆในการแสดงความรู้สึกเหมือนกัน และก็ทำให้นึกถึงคลิปนี้ด้วย
 
7.ในขณะที่เรารู้สึกอินกับความเจ็บปวดของพริกแกง ตัวละครพลอยพิณกลับเป็นตัวละครที่กระตุ้นจินตนาการเรามากที่สุด เพราะตัวละครตัวนี้เหมือนเต็มไปด้วยความรู้สึกก้ำกึ่ง กำกวม ตัดสินใจไม่ได้ ครึ่งๆกลางๆ ซึ่งเราว่ามันเป็นจุดที่น่าสนใจมากๆของมนุษย์ เราสนใจตัวละครตัวนี้ในหลายๆแง่ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่า เราไม่แน่ใจว่าตัวละครตัวนี้รักอาร์มมากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ เธอคงรักอาร์มน้อยกว่าที่อาร์มรักเธอ
 
สิ่งที่เราสนใจในตัวละครพลอยพิณ ก็มีเช่น
 
7.1 เราชอบมากที่เธอเป็นฝ่ายจูบอาร์มก่อน เราว่าฉากนั้นดีมากๆ และอาจจะเป็นฉากที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวละครตัวนี้มากที่สุดเมื่อเทียบกับฉากอื่นๆ
 
7.2 แต่การที่อาร์มบอกกับเพื่อนๆว่า เขายังไม่เคยจูบกับพลอยพิณมาก่อนเลยทั้งๆที่คบกันมานานหลายปี ทำให้เรารู้ว่าพลอยพิณคงเป็นคนที่ตรงข้ามกับเราอย่างสิ้นเชิง เพราะถ้าเราเป็นพลอยพิณ เราคงมี sex กับอาร์มไปตั้งแต่วันแรกที่ได้รู้จักกันแล้ว
 
7.3 การที่พลอยพิณไม่ยอมตกลงแต่งงานกับอาร์มง่ายๆ เป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ โดยเธอให้เหตุผลว่าอยากจะลองคบกับคนอื่นๆดูก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่าสนใจดี และเราว่ามันก็สะท้อนให้เห็นว่า เธอยังมีความไม่แน่ใจอะไรบางอย่างในตัวอาร์ม หรือไม่แน่ใจในจุดมุ่งหมายอะไรบางอย่างในชีวิต
 
7.4 น่าเสียดายที่เธอตัดสินใจอยากลงจากเครื่องบินในช่วงท้ายเรื่อง คือในแง่นึงเราก็เข้าใจตัวละครตัวนี้นะ ว่าทำไมถึงอยากลงจากเครื่องบิน แต่ที่เราใช้คำว่า “น่าเสียดาย” เป็นเพราะว่าการที่เธอตัดสินใจแบบนี้ มันทำให้เธอออกห่างจากการเป็น “นางเอกในจินตนาการ” ของเราเท่านั้นเอง
 
8.สรุปว่าตัวละครพลอยพิณมีทั้งส่วนที่เหมือนกับนางเอกในจินตนาการของเรา และส่วนที่ตรงข้ามกับนางเอกในจินตนาการของเรา คือถ้าพลอยพิณเป็นนางเอกในจินตนาการของเรา เธอก็คงจะมี sex กับอาร์มไปนานแล้ว แต่ตัดสินใจไม่แต่งงานกับเขา เพราะเธอไม่ได้ชอบเขาถึงขั้นนั้น เธออยากจะมีเซ็กส์กับเขาเป็นครั้งคราว พร้อมกับทดลองคบกับคนอื่นๆไปเรื่อยๆ เพราะเธอไม่คิดว่าเธอรักใครจนถึงขั้นที่อยากจะแต่งงานด้วย และถ้าหากเธอเจออาร์มมาจัดฉากแบบนี้ที่สนามบิน เธอก็คงจะตอบเขาไปในทันทีว่า “ไม่”
 
9.ชอบฉากเปิดตัวพลอยพิณมากๆในแง่ที่ว่า แว่บแรกเรานึกว่าฉากนี้จะเน้นแสดงให้เห็นว่าพลอยพิณ สวย เก๋ เท่ เฉี่ยว เปรี้ยว ดูดีมีเสน่ห์ขนาดไหน เพราะหนังหลายๆเรื่องมักจะเปิดฉากตัวละครหญิงด้วยการเน้น appearance หรือรูปลักษณ์ภายนอกแบบนี้ แต่ฉากเปิดตัวพลอยพิณกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะจุดสนใจของเราในฉากนี้มุ่งไปที่อากัปกิริยาบนใบหน้าของพลอยพิณ ที่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าเธอดีใจหรือลำบากใจหรือรู้สึกอะไรกันแน่ที่เจออาร์ม คือฉากเปิดตัวพลอยพิณมันไม่ได้ทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่รูปลักษณ์ภายนอกของเธอ แต่มันทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่ความรู้สึกอันซับซ้อนในใจของตัวละครตัวนี้ในทันที เราก็เลยชอบฉากเปิดตัวของตัวละครตัวนี้มากๆ
 
10.สาเหตุที่เราให้เกรด A+25 (ซึ่งแปลว่าชอบเกือบสุดๆ) กับหนังเรื่องนี้ เป็นเพราะว่าเราร้องห่มร้องไห้กับพริกแกง, รู้สึกสนใจกับความรู้สึกก้ำกึ่งในใจพลอยพิณ และเป็นเพราะว่าองค์ประกอบอื่นๆในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกขัดใจแต่อย่างใด
 
11.แต่สาเหตุที่ทำให้เรายังไม่ให้เกรด A+30 (ซึ่งแปลว่าชอบสุดๆ) กับหนังเรื่องนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้อินกับหนังแนวนี้มากนัก โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าเราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆ ถ้าหากหนังเรื่องนี้ออกจากความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ และก้าวไปเป็นหนังที่ไร้ genre ไปเลย หรือถ้าหากหนังเรื่องนี้นำเสนออะไรต่างๆแบบข้างล่างนี้
 
11.1 ตัวละครพลอยพิณในหนังทำตัวเหมือนนางเอกในจินตนาการของเรา และหนังโฟกัสไปที่ชีวิตของตัวละครตัวนี้ ที่อาจจะให้ความสำคัญกับเซ็กส์, การงาน หรือความหมกมุ่นกับอะไรอื่นๆในชีวิต อย่างเช่น “ความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายโดยไม่แน่ใจว่าอะไรคือสาเหตุ” มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับความรักและการแต่งงาน
 
11.2 หนังโฟกัสไปที่อารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวดของตัวละครที่แสดงโดยกิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา ที่แอบรักเพื่อน แต่ต้องช่วยเพื่อนให้สมหวังในรักกับคนอื่น เราคิดว่าเราต้องอินกับความรู้สึกแบบนี้มากแน่ๆ
 
ในแง่นึงเราก็ชอบมากนะที่ตัวละครที่สามารถขยี้อารมณ์ให้รุนแรงได้ขนาดนี้ ถูกหนังลดบทบาทลงไปเป็นเพียงตัวละครประกอบแทน เพราะเราชอบหนังที่ treat ตัวประกอบในแง่ที่มันเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบนี้น่ะ แต่ในแง่นึงเราก็ยอมรับว่า เราคงอินกับตัวละครตัวนี้แบบสุดๆไปเลย ถ้าหากมีหนังเรื่องไหนเลือกที่จะนำเสนอตัวละครตัวนี้เป็นตัวละครหลัก และเน้นสำรวจความรัก, ความเงี่ยน และความเจ็บปวดของตัวละครตัวนี้
 
12.สรุปว่าเราประทับใจกับวิธีการสร้างตัวละครในหนังเรื่องนี้มากๆ หนังเรื่องนี้มีวิธีการบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครหลักและตัวละครประกอบหลายตัวในหนังเรื่องนี้เป็นมนุษย์จริงๆ เรารู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้เป็นมนุษย์จริงๆสำหรับเราจนถึงขั้นที่มันทำให้เรารู้สึก “อารมณ์ค้างเติ่ง” เล็กน้อยที่หนังไม่ได้นำเสนอแง่มุมอื่นๆในชีวิตของพวกเขาอย่างเต็มที่นอกจากความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ สรุปว่าเราชอบตัวละครต่างๆในหนังเรื่องนี้มากจนมันทำให้เรารู้สึกเกลียดกรอบของความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ที่บีบอัดตัวละครเหล่านี้เอาไว้จ้ะ
 

1 comment:

celinejulie said...

เพิ่มเติม

12.คิดๆดูแล้ว การที่เราชอบวิธีการแสดงความในใจของพริกแกงมากกว่าโจและอาร์ม อาจจะมีสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า “น้ำเสียง” มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ คือว่าในการแสดงความในใจของพริกแกงนั้น สิ่งที่สำคัญคือ “เนื้อหาของเพลงที่เธอร้อง” และ “น้ำเสียงที่เธอร้อง” ซึ่งเนื้อหาของเพลงนั้นเป็นสิ่งที่เธอควบคุมได้ แต่น้ำเสียงที่เธอร้องมันเป็นสิ่งที่เธอควบคุมไม่ได้ และเราก็รู้สึกจี๊ดกับน้ำเสียงที่เธอร้องมากๆ การที่เธอปล่อย “สิ่งที่เธอควบคุมไม่ได้” ผ่านมาทางน้ำเสียงของเธอ มันทำให้เรารู้สึกเหมือนเราได้สัมผัสจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของเธออย่างแท้จริง

ในขณะที่วิธีการแสดงความในใจของโจ ผ่านทางบทสนทนาในละครเวที มันเป็นการแสดงออกผ่านทาง “สิ่งที่ควบคุมได้” ส่วนวิธีการแสดงความในใจของอาร์ม ผ่านการจัดฉากที่สนามบิน มันยิ่งเป็นการแสดงออกผ่านทางการ manipulate สิ่งต่างๆอย่างรุนแรง

13.อีกสิ่งที่เราว่าน่าสนใจมากๆในหนังเรื่องนี้ ก็คือในส่วนของอาร์มและพลอยพิณนั้น มันมีฉาก “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”, “การยืนเคารพเพลงสรรเสริญในโรงหนัง” และ “การสร้างสถานการณ์ที่สนามบิน” อยู่ในเนื้อเรื่องด้วย โดยที่ฉากเหล่านี้ “อาจจะ” ไม่มีนัยะใดๆในทางการเมืองเลย :-)