Monday, February 24, 2014

NON-TOUCH'S REVIEW ON "THERE IS NO ESCAPE FROM THE TERRORS OF THE MIND"


This is what Non-Touch Rafael Ram’Jazz wrote in his Facebook:

 


HSP: There Is No Escape From The Terrors Of The Mind (Rouzbeh Rashidi, Ireland/UK/Iran/Oman, 2013)

 

เราสนใจภาพซ้อนกับภาพติดตาในเรื่องนี้มาก ภาพซ้อนก็คือเอาภาพสองภาพมาซ้อนกัน ภาพติดตาในที่นี้คือ Persistence of Vision มันเป็นหนึ่งในกลไกสร้างภาพเคลื่อนไหวให้ตามนุษย์สัมผัสได้ว่ามันเคลื่อนไหว อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ตาเราสามารถมองเห็นภาพค้างอยู่ในระยะเวลา 1/25 วินาที ซึ่งพอภาพ 1/25 วินาทีแต่ละภาพที่เราเห็นนี้มาประกอบเรียงต่อกัน เราจะเห็นภาพเคลื่อนไหว ตัวอย่างภาพติดตาเช่น flipbook, ภาพยนตร์, เล่นแกว่งให้ปากกางอ หรืออย่างการมองภาพหนึ่งแช่นานๆ แล้วหันไปมองฉากขาวหรือหลับตาทันที จะเห็นภาพนั้นค้างอยู่

 

 กระบวนการภาพซ้อนในเรื่องคืออะไรที่น่าสนใจ คือเราเห็นภาพสองภาพซ้อนกัน ในเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน บางครั้งก็เป็นสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน หรือภาพชุดเดียว แต่มืดสว่างไม่เท่ากัน มันเลยเกิดภาพภาวะภาพซ้อน ที่เกิดจากภาพติดตาสองภาพในเวลาเดียวกันเข้าสู่ชุดการรับรู้ไปในสมองของเรา เรื่องนี้เป็นหนังทดลอง Avant-Garde ที่มีเนื้อเรื่องอยู่ แต่เนื้อเรื่องมันเป็นเรื่องบางๆ ของชายคนหนึ่ง (ผู้กำกับ) ที่จากแผ่นดินแม่อิหร่านมาอยู่ไอร์แลนด์ โดยหนังไม่ค่อยเน้นเล่าเรื่อง แต่เน้นเทคนิคการถ่ายภาพ และการตัดต่อที่แปลกใหม่ ด้วยการมีภาพซ้อนมากมาย ซึ่งมีความหมายในแง่ความทรงจำจากอิหร่านสู่ไอร์แลนด์ซึ่งไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไหร่ เพราะภาพและเสียงมีความเจ็บปวดรวดร้าวสุดจะพรรณนาได้

 

 ภาพซ้อนในเรื่องมาด้วยหลายกลวิธี เท่าที่สังเกตได้จะมี

 

1. ภาพซ้อนด้วยกระบวนการหลังถ่าย คือทำตอนตัดต่อนั่นแหละ ด้วยการซ้อนภาพสองเลเยอร์ แล้วลดความเข้มของภาพให้มันใสขึ้น เพื่อที่จะได้มองทะลุไปเห็นยังภาพอีกภาพได้ โดยปกติ ถ้ามีสองภาพ ภาพที่เข้มกว่าจะเป็นภาพพื้น หรือภาพหลัก แต่ด้วยเรื่องนี้ความจางของภาพต่างพอๆ กัน เราไม่รู้เลยว่าภาพไหนหลัก ภาพไหนรอง บางครั้งจะมีภาพใดภาพหนึ่งที่ตกไปในจุดที่มืดสนิท แต่ยังไม่เฟดหายไป ทำให้ภาพอีกภาพชัดขึ้น มันเป็นกลไกที่ประหลาดมาก เมื่อยิ่งมืด เราจะยิ่งเห็นชัด ขัดกับกลไกสายตาที่ต้องการแสงสว่างเพื่อการมองเห็น คล้ายๆ กับว่า บางครั้งที่เราหลับตา เรากลับเห็นอะไรชัดขึ้น

 

 และยังมีภาพซ้อนอีกแบบหนึ่งที่เห็นชัดมากว่า ภาพใดเป็นหลัก ภาพใดเป็นรอง คือภาพที่ซ้อนสองภาพนั้น มีภาพหนึ่งมี aspect ratio หรืออัตราส่วนจอภาพที่เล็กว่า หนังเรื่องนี้ใช้อัตราส่วน 1.85:1 แต่ภาพที่ซ้อนนั้นใช้อัตราส่วน 1.33:1 ทำให้ภาพที่เห็นนั้นเหมือนกำลังมองการฉายโปรเจคเตอร์ซ้อนทับลงไปในหนังอีกที เหมือนภาพอีกภาพนั้น เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่แยกเป็นเอกเทศจากภาพหลัก

 

2. ภาพซ้อนด้วยกระบวนการระหว่างถ่าย เท่าที่สังเกตเห็นคือ การใช้เลนส์สองชั้น ที่มีลักษณะคล้ายกับหนังเรื่อง Post Tenebras Lux (Carlos Reygadas, 2012) คือภาพนั้นเป็นภาพที่ถ่ายในระยะเวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกับ แต่ต่างระยะกัน เลนส์ที่แปะอยู่ตรงกลางจะมีระยะที่กว้างกว่าเลนส์รอบนอก รู้สึกแปลกประหลาดดีทุกครั้งที่เห็นเทคนิคนี้ ตั้งแต่ Post Tenebras Lux แล้ว (เรื่องนี้ได้ดูในโรง ฟินโบ้ม) เราเห็นภาพๆ เดียวกัน แต่ซ้อนกันไม่สนิท เคลื่อนไหวไปด้วยกัน แถมบางครั้งดูเหมือนจะไม่ใช่การถ่ายแบบเลนส์ประกบ แต่ดูเหมือนเลนส์แตก เลยทำให้ภาพนี้ดูคอมโพสิชั่นไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเราชอบเทคนิคนี้มาก ช็อตประทับใจสุดคือ ช็อตหนุ่มเปอร์เซียคนหนึ่งยืนอยู่ริมผาทะเลทราย แต่ภาพที่ได้ เหลื่อมกันตัดผ่ากลางชายผู้นี้ตามแนวยาว และหัวของผู้ชายคนนี้ก็ถูกกลืนกินเข้าไปในระหว่างรอยแยกของระยะทางที่เลนส์จะรับได้

 

3. ภาพกระพริบ การกระพริบเกิดขึ้นจาก แสงสว่างที่กระทบตาเรานั้น มีระยะเวลาไม่ต่อเนื่องพอที่ภาพ persistence of vision จะคงรูปอยู่ได้ ก่อนที่จะถูกกลืนหายไปในความมืด เราจึงเห็นเป็นภาพความมืดภาพความมืดสลับกันไปอยู่อย่างนี้ การใช้เทคนิคภาพกระพริบนี้ เราถือเป็นภาพซ้อนชนิดนึง เพราะระหว่างที่สีดำได้ครอบคลุมพื้นที่หน้าจอทั้งหมด เราเห็นภาพก่อนหน้านั้นค้างแว้บอยู่ในตากับจอสีดำนั้น ภาพที่ค้างอยู่ในจอสีดำ เป็นภาพมลังเมลือง แต่มัวๆ ไม่ชัดเท่ากับภาพที่ปรากฏก่อนหน้านั้น กลายเป็นว่าสีดำทำให้เราเห็นภาพไม่ชัด ภาพจากอดีตที่ตกค้างอยู่ในตาเรา ต่างจากเทคนิคภาพซ้อนด้วยกระบวนการหลังถ่ายที่เคยบอกไว้ในข้อแรก ในเทคนิคนั้น ภาพอีกภาพยังคงอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน พอภาพอีกภาพดับไป เราเลยเห็นภาพอีกภาพหนึ่งชัดขึ้น แต่ด้วยเทคนิคนี้ ภาพที่กระพริบนั้นคือภาพๆ เดียวที่มีห้วงเวลาไม่ต่อเนื่อง ด้วยการถูกเบียดบังด้วยจอสีดำคั่นระหว่างทาง ภาพที่ปรากฏบนจอสีดำเลยเป็นแค่ภาพติดตาที่ตกค้างจาก 1/25 วินาทีก่อนอยู่รางๆ เท่านั้น

 

 ด้วยการซ้อนภาพด้วยเทคนิคสามอย่างหลักๆ นี้ ก็มีการผสมกันระหว่างเทคนิคแต่ละอย่างนี้อีก เช่นฉากซีร็อกซ์หน้ากาก ในครั้งแรกจะมีจังหวะที่ทั้งจอดำสนิท เราเห็นภาพหน้ากากเลือนๆ แล้วพอผ่านไปซักพักก็มีภาพของผู้กำกับซ้อนเข้ามา ในช่วงที่หน้ากากขาวสว่างอยู่ เราอาจไม่ค่อยเห็นหน้าผู้กำกับ แต่เมื่อจอดำสนิท ภาพของผู้กำกับก็เห็นได้ชัด

 

 อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการใช้เสียง เสียงในเรื่องเรียกได้ว่าหนังสยองขวัญเรียกพ่อ การบรรเลงเพลงด้วยเสียงโทนต่ำ ทำให้ไม่ง่วงเลยตลอดทั้งเรื่อง อีกทั้งเวลาพูดยังทำเสียงเอคโค่ สะท้อนก้องไปมาในหูเรา ราวกับว่าภาพและเสียงเหล่านี้ได้เดินทางเข้ามาในการรับรู้ของเรา และสั่นสะเทือนความทรงจำของเราอย่างไม่จบไม่สิ้น

No comments: