Tuesday, March 10, 2015

THE RIOT CLUB (2014, Lone Scherfig, A+30)

THE RIOT CLUB (2014, Lone Scherfig, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงสิ่งต่อไปนี้

1.สิ่งหนึ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้คือจุดที่มันทำให้นึกถึงหนังเรื่อง DRAG ME TO HELL (2009, Sam Raimi) น่ะ คือถ้าเราจำไม่ผิด ประเด็นหลักอันนึงของ DRAG ME TO HELL คือเรื่องที่ว่า “คนจนไม่มีเงิน แต่เขามีศักดิ์ศรี” ซึ่งเราว่าหนังเรื่อง THE RIOT CLUB นำเสนอความเข้าใจผิดของคนรวยในเรื่องนี้ได้ดีมากๆ คือคนรวยบางคนแบบในหนังเรื่องนี้มักจะคิดว่า พวกเขาสามารถใช้เงินฟาดหัวคนจนได้ แต่พวกเขาไม่เข้าใจหรอกว่า จริงๆแล้วคนจนหลายๆคนมีศักดิ์ศรี และเห็นศักดิ์ศรีสำคัญกว่าเงิน พวกเขาเข้าใจดีว่าเงินเป็นของคนรวย เป็นของคนอื่นๆ แต่ศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่คนทุกคนไม่ว่าคนจนคนรวยมีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้นศักดิ์ศรีจึงเป็นสิ่งที่คนจนหวงแหนมากๆ เพราะเขารู้สึกว่านั่นมันเป็นของของเขา ในขณะที่เงินหรือทรัพย์สมบัติมันไม่ใช่ของของเขา มันเป็นของคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นเราจึงมักจะเห็นคนรวยบางคนโกรธอย่างรุนแรงเมื่อรู้สึกว่าตนเองโดนโกงเงิน เพราะคนรวยมองว่า “เงิน” คือสิ่งสำคัญและคือสิ่งที่เชิดชูอำนาจของพวกเขา ในขณะที่คนจนหลายคนอาจจะโกรธมากๆถ้าหากพวกเขาถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาถูกมองว่าไม่ควรได้รับ “สิทธิ” เท่ากับคนชนชั้นอื่นๆ

2.เราว่าหนังและบทภาพยนตร์เรื่องนี้เก่งมากในแง่นึง นั่นก็คือการสร้างตัวละครคนรวยเลวๆเหล่านี้ให้น่าติดตามได้ตลอดทั้งเรื่อง คือเรามองว่าในหนังโดยทั่วไปนั้น การสร้างตัวละครคนเลวที่เป็น “คนผิวขาว”, “เจ้าพ่อ”, “คนรวย”, “ลูกเศรษฐี” หรือ “นักการเมือง” มันเป็นเรื่องง่ายๆน่ะ คือการสร้างตัวละครคนเลวที่เป็นแบบนี้มันอาจจะเรียกได้ว่า politically correct อยู่แล้ว ในขณะที่การสร้างตัวละครคนเลวที่เป็น “คนผิวสี”, “เกย์”, “ชนกลุ่มน้อย”, “คนพิการ” หรือ “คนด้อยโอกาส” มันเป็นเรื่องที่ยากกว่าและหมิ่นเหม่กว่า

เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้สร้างตัวละครคนเลวที่เป็น “กลุ่มหนุ่มผิวขาวที่ร่ำรวย” มันจึงยากในแง่นึงในแง่ที่ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้มันเป็นตัวละครผู้ร้ายแบบที่พบได้ในหนังอีกล้านๆเรื่องน่ะ จะทำอย่างไรให้ตัวละครเหล่านี้ดูเป็นมนุษย์จริงๆ ที่น่าจดจำ และไม่ใช่ stereotype ของผู้ร้ายทั่วๆไป และเราว่าหนังเรื่องนี้ทำสำเร็จ หนังสามารถสร้างตัวละครที่ดูเป็นมนุษย์จริงๆที่ซับซ้อนขึ้นมาได้ โดยเฉพาะตัว Alistair (Sam Claflin) แทนที่จะเป็นผู้ร้ายแบบแบนๆโง่ๆ

3.อีกจุดที่ชอบมากคือการที่หนัง/บทภาพยนตร์ใส่ใจกับตัวประกอบมากพอสมควร และแสดงให้เห็น reaction ที่แตกต่างกันของตัวประกอบแต่ละคนเมื่อสถานการณ์ต่างๆเปลี่ยนแปลงไป คือหนังบางเรื่องอาจจะเน้นแค่ตัวละคร A กับ B และแสดงให้เห็นว่า A กับ B มีพัฒนาการอย่างไรเมื่อเจอเหตุการณ์ ก ข ค ง จ แต่หนังเรื่องนี้มีตัวประกอบเยอะมาก และหนังไม่ละเลยที่จะแสดงให้เห็นว่า ตัวประกอบเหล่านี้มีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไปเมื่อเจอเหตุการณ์ ก ข ค ง จ ด้วย และเราก็ชอบอะไรแบบนี้มากๆ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าหนังปฏิบัติต่อตัวละครประกอบเหล่านี้แบบใส่ใจ แทนที่จะมองว่ามันเป็นตัวละครประกอบที่ไม่มีความสำคัญ

ตัวละครประกอบที่ชอบเป็นพิเศษก็คือคนที่เป็นเกย์กับคนที่เป็นชาวกรีซน่ะ เราชอบที่หนังแสดงให้เห็นปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆของตัวประกอบเหล่านี้เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ แต่การที่หนังให้ความสำคัญกับตัวประกอบสองตัวนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ในแง่นึง “ความเป็นเกย์” กับ “ความเป็นคนกรีซ” ก็ทำให้ตัวประกอบสองตัวนี้แตกต่างจากกลุ่ม “หนุ่มผิวขาว straight ลูกผู้ดีชาวอังกฤษ” อยู่แล้ว

เราชอบตัวสาวเสิร์ฟด้วย ชอบที่ตัวละครตัวนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติเช่นกัน จากที่มองกลุ่มพระเอกในแง่บวกในตอนแรก แล้วทัศนคติก็ดิ่งลงเหวไปเรื่อยๆ

4.หนังที่เราชอบที่สุดที่เราได้ดูในปี 1998 คือ DEVIL’S ADVOCATE (1997, Taylor Hackford, A+30) และเราก็ชอบ THE RIOT CLUB เพราะมันมีบางจุดที่ทำให้นึกถึง DEVIL’S ADVOCATE นั่นก็คือการที่คนเรามักจะเจอบททดสอบในชีวิตด้วยการที่มีคนมายื่นข้อเสนออะไรบางอย่างให้เราเลือก ซึ่งถ้าหากเราตอบรับไป ชีวิตเราก็สามารถเหี้ยได้ในทันที ซึ่งเราว่า THE RIOT CLUB มีอะไรแบบนี้เยอะ อย่างเช่นตัวเจ้าของผับที่ต้องเลือกว่าจะรับเงินหรือจะไล่พวกพระเอกออกไป, กะหรี่ที่ต้องเลือกว่าจะรับเงินค่าจ้างหรือจะปฏิเสธไม่ทำงาน, พระเอกที่ต้องเลือกว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ และ Alistair ที่ต้องเลือกว่าจะให้การต่อศาลอย่างไร

5.ในขณะที่ผู้ชมภาพยนตร์หลายๆคนมักจะตำหนิหนังหลายๆเรื่องว่า “เหมือนละครเวที” แต่เราเป็นคนที่ชอบละครเวที และเราก็มักจะรู้สึกตรงกันข้ามกับผู้ชมภาพยนตร์กลุ่มนั้น เพราะเรามักจะชอบหนังหลายๆเรื่องที่มันเหมือนละครเวที โดยเฉพาะเรื่องนี้ที่ดัดแปลงมาจากละครเวที เราเดาว่าตัวบทเดิมของละครเวทีมันคงจะสร้างตัวละครออกมาได้ดีมากๆแบบในหนัง และการเป็นละครเวที มันทำให้เปลี่ยนฉากได้ไม่มาก เพราะฉะนั้นพอเหตุการณ์สำคัญมันเกิดขึ้นในฉากเดียวแบบลากยาว มันก็เลย intense มากๆสำหรับเรา และเราก็ชอบตรงจุดนี้ คือถ้าหากเหตุการณ์มันไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องในฉากเดียวแบบนี้ เราก็อาจจะไม่รู้สึก intense มากเท่านี้

6.โชคดีที่หนังไม่ได้ feel bad แบบสุดๆเหมือนอย่างที่เราจินตนาการขณะนั่งดู คือเราว่าหนัง set สถานการณ์ได้ intense มากน่ะ เพราะฉะนั้นขณะที่ดู เราก็เลยกลัวมากๆว่าเหตุการณ์ในหนังอาจจะบานปลายไปถึงขั้น

6.1 MURDER BY NUMBERS (2002, Barbet Schroeder) ที่หนุ่มฐานะดีสองคนร่วมมือกันในการกระทำฆาตกรรมต่อเนื่อง

6.2 THE ACCUSED (1988, Jonathan Kaplan)

6.3 SALO, OR 120 DAYS OF SODOM (Pier Paolo Pasolini)

แต่เราว่า THE RIOT CLUB มีบางอย่างที่ทำให้นึกถึง LORD OF THE FLIES นะ คือสิ่งที่เราชอบมากใน LORD OF THE FLIES คือการที่นิยายเรื่องนี้สร้างตัวละคร “เด็กชายนิสัยดี” ขึ้นมา แต่พอเนื้อเรื่องดำเนินไปถึงฉากไคลแมกซ์ เมื่อเด็กชายหลายๆคนรุมกันฆาตกรรมเด็กชายที่มีจิตใจบริสุทธิ์ที่สุดในเรื่อง “เด็กชายนิสัยดี” คนนั้นก็ร่วมมือในการฆาตกรรมเด็กชายที่มีจิตใจบริสุทธิ์ที่สุดในเรื่องด้วย เพราะฉะนั้นการที่ THE RIOT CLUB สร้างตัวละครพระเอกที่มีนิสัยดีขึ้นมา และสร้างสถานการณ์แบบในผับให้เขาต้องเผชิญ และให้เขาต้องตัดสินใจว่าจะเลือกทำอย่างไร มันก็เลยทำให้นึกถึง LORD OF THE FLIES และทำให้นึกถึงตัวละคร “พยาน” ใน THE ACCUSED ด้วย


7.อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่อาจจะขาดไปในหนังเรื่องนี้ก็คือ THE RIOT CLUB ไม่ได้สร้าง moral dilemma อะไรให้กับเรานะ คือเราเกลียดพวกคนรวยในหนังเรื่องนี้และเกลียดคนไทยที่มีทัศนคติหรือทำตัวแบบคนรวยในหนังเรื่องนี้ได้อย่างสนิทใจ ไม่มีข้อกังขา ไม่มี dilemma และไม่มีความปรานีใดๆให้กับคนรวยพวกนี้น่ะ 555 ซึ่งสิ่งนี้มันจะแตกต่างจากหนังของ Claude Chabrol อย่าง LA CEREMONIE (1995, A+30) หรือหนังสั้นเรื่อง ANAÏS (2013, Julie Benegmos, A+30)  เพราะหนังพวกนี้อาจจะพูดถึงปัญหาคนจนคนรวยเหมือนกัน แต่มันทิ้งค้าง moral dilemma ไว้ในใจเรา มันทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ว่าเราควรจะรู้สึกอย่างไรกับตัวละครในเรื่องนี้ดี

No comments: