Saturday, August 29, 2015

BWAYA (2014, Francis Xavier Pasion, Philippines, A+30)

BWAYA (2014, Francis Xavier Pasion, Philippines, A+30)

ชอบความรู้สึกที่ว่า “เราไม่รู้จะโทษใครดี” ในหนังเรื่องนี้ หรือไม่รู้จะไประบายความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังต่อโชคชะตากับใครดี และเราก็ชอบที่มันเหมือนกับเป็นการนำ genre หนังจระเข้ยักษ์อาละวาดมาทำเป็นหนัง drama realist ด้วย คือถ้าหากเป็นหนังจระเข้ยักษ์เรื่องอื่นๆ หนังมันจะเต็มไปด้วยการเร้าอารมณ์ตื่นเต้นของคนดู แต่ในหนังเรื่องนี้ ฉากจระเข้กินคนนี่มาแบบไม่มีการเร้าอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น มันเลยดูสมจริงมากๆ และน่ากลัวมากๆด้วย เพราะในชีวิตจริงนั้น เวลาคนเราจะถึงที่ตายแบบฉับพลัน มันไม่มี “เสียงเพลงเร้าอารมณ์” ตื่นเต้นมาก่อนหรอก มันมาแบบไม่ทันตั้งตัว หรือไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยแบบนี้นี่แหละ

อีกจุดที่เราว่ามันน่าสนใจมากๆเมื่อเทียบกับ genre หนังจระเข้ยักษ์ ก็คือว่า จระเข้ยักษ์ในหนังเรื่องนี้ มันไม่ถูกทำให้เป็น “ศัตรู” หรือเป็นสัญลักษณ์ของ “ความชั่วร้าย” น่ะ นางเอกของหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็คือคุณแม่ที่สูญเสียลูกสาวไป ก็เลยอยู่ในภาวะไม่รู้จะโทษใครดี จะโทษครูหรือเพื่อนของลูกสาวก็ไม่ได้ เพราะไม่มีใครทำอะไรผิดทั้งนั้น และจะไประบายความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังใส่จระเข้ก็ยาก เพราะอีจระเข้ก็แทบไม่โผล่หัวมาให้เห็นอีกเลย ซึ่งตรงนี้มันน่าสนใจมากๆพอเทียบกับหนังทั่วไป เพราะหนังทั่วไปมันจะอิงอยู่กับการสร้าง “คู่ขัดแย้ง” น่ะ มันจะมี antagonist หรือมีตัวผู้ร้ายที่ชัดเจนอย่างเช่นจระเข้ยักษ์ที่ไล่กินตัวละครทีละตัวๆ เพื่อที่คนดูจะได้มีเป้าหมายของความโกรธเกลียดชิงชังอย่างชัดเจน แต่ในหนังเรื่องนี้ เราจะไม่รู้ว่าจะเอาความโกรธเกลียดชิงชังไปแปะไว้ที่ตัวละครตัวไหน
มันเหมือนกับว่าการเสียชีวิตของโรวินาเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างเช่นแผ่นดินไหว และเราก็ไม่สามารถระบายความเกลียดชังไปที่พระแม่ธรณีได้ แต่สำหรับตัวแม่ของโรวินานั้น มันอาจจะแย่ยิ่งกว่าแผ่นดินไหวอีกในแง่ที่ว่า ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวมันมีคนตายเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้สึกว่าเราซวยอยู่คนเดียว แต่ในกรณีแบบนี้ แม่ของโรวินาจะรู้สึกว่าตัวเองซวยอยู่คนเดียว และไม่รู้ว่าจะโทษใครดี

เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้ในแง่นี้แหละ เพราะพอหนังมันไม่มี antagonist ที่ชัดเจน, ไม่มีผู้ร้ายที่ชัดเจน หรือไม่มีเป้าหมายของความเกลียดชังที่ชัดเจน มันก็เลยแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ และเราว่ามันก็ “จริง” ในแง่นึง เพราะในบางครั้ง ชีวิตคนเราก็อาจจะเจออะไรซวยๆได้ โดยที่เราไม่สามารถโทษใครหรืออะไรได้เลยเช่นกัน

คือในแง่นึงมันทำให้เรานึกถึงหนังสารคดีเรื่อง GRIZZLY MAN (2005, Werner Herzog) ด้วย เพราะตอนที่เราดูสารคดีเรื่องนี้ เราจะสองจิตสองใจว่า เราควรจะโทษว่าการตายของ subjects ในหนังเรื่องนี้ มันเป็นความผิดของใคร มันเป็นความผิดของ subjects เองที่ไว้วางใจหมีมากเกินไป หรือเป็นความผิดของหมีฆาตกร หรือจริงๆแล้วไม่มีใครผิด มันเป็นเรื่องของคนที่ถึงที่ตายเอง และพอเรามาดู BWAYA เราก็เลยรู้สึกว่า มันอาจจะไม่มีใครผิดเลยก็ได้ในโศกนาฏกรรมแบบนี้  

ถ้าหากเราต้องฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่องอื่นๆ เราก็คงฉายควบกับ TONDO, BELOVED: TO WHAT ARE THE POOR BORN? (2012, Jewel Maranan, Philipppines, documentary) และ IMBURNAL (2008, Sherad Anthony Sanchez, Philippines) เพราะหนังทั้งสามเรื่องนี้สะท้อนภาพชีวิตคนฟิลิปปินส์ที่จนสุดๆและอาศัยอยู่ริมน้ำเหมือนๆกัน โดย TONDO BELOVED นั้นเหมือนกับเป็นภาคแรก เล่าเรื่องของคุณแม่ผู้ยากจนข้นแค้นขณะตั้งครรภ์และคลอดลูก ส่วน BWAYA เหมือนเป็นภาคสอง เล่าเรื่องของลูกสาวตอนโตประมาณ 7-8 ขวบ และ IMBURNAL เหมือนเป็นภาคสาม ที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าหากลูกสาวไม่ถูกจระเข้กิน เธออาจจะโตมาเป็นสาวสก๊อยยังไงบ้าง


No comments: