Wednesday, August 12, 2015

MY GENERAL OPINIONS ON CONTEMPORARY ROMANTIC FILMS

MY GENERAL OPINIONS ON CONTEMPORARY ROMANTIC FILMS

มีเพื่อนคนนึงใน Facebook ถามความเห็นของเราที่มีต่อหนังรักยุคปัจจุบัน เราก็เลยมีความเห็นดังต่อไปนี้

1.อาจจะถามผิดคนแล้วจ้า เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหนังรัก, เราไม่ใช่นักวิจารณ์ และก็ไม่ใช่อาจารย์สอนภาพยนตร์ด้วย เราเป็นแค่คนที่ชอบดูหนังเท่านั้นเอง และจริงๆแล้วเราชอบดูหนังสยองขวัญ, หนัง feel bad หรือหนังพิศวง surreal  น่ะ เราชอบหนังที่พูดถึง “ความเกลียดชัง” มากกว่าความรักด้วย และสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยมีแฟน มันก็เลยเป็นการยากสำหรับเราที่จะอินกับความรักในหนังเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเป็นหนังที่สะท้อน “ความเหงา” และสะท้อน “ความเงี่ยน” นี่ เราอินได้ง่ายมากๆจ้ะ

นอกจากนี้ พวกหนังรักดังๆทำเงิน อย่าง FOUR WEDDINGS AND A FUNERAL, LOVE ACTUALLY, สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก, BE WITH YOU (2004, Nobuhiro Doi), CRYING OUT LOVE IN THE CENTER OF THE WORLD (2003, Isao Yukisada, C+) อะไรพวกนี้นี่ เป็นหนังที่เราดูแล้วไม่ชอบเลยนะ ซึ่งก็อย่างที่บอกน่ะแหละ มันอาจจะไม่ใช่ความผิดของหนังก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับหนังเท่านั้นเอง

2.แต่ถ้าอยากได้ความเห็นเกี่ยวกับ “วิธีการทำหนัง” แล้วล่ะก็ เราก็ยิ่งไม่มีความเห็นอะไรพวกนี้ใหญ่ เพราะเราไม่เคยทำหนังเลย เราบอกได้แค่ว่าเราชอบหนังเรื่องไหนมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น และหลายๆครั้งเราบอกไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่า เราชอบหนังรักเรื่องนั้นอย่างสุดๆเพราะอะไรกันแน่ บอกได้แต่ว่าดูแล้วมีความสุขมากๆเท่านั้นเอง

แต่ถ้าใครอยากได้คำแนะนำเกี่ยวกับ “การกำกับหนัง” เราก็ขอแนะนำให้อ่านบทความของ Ray Carney นักวิจารณ์ชื่อดังในหนังสือ “ฟิล์มไวรัส 2” นะ อาจจะอ่านได้จากห้องสมุดมหาลัย คือบทความนั้นมันพูดถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการกำกับ “หนังทั่วๆไป” น่ะ ไม่ได้เจาะจงที่หนังรัก แต่เราว่าหลายอย่างๆมันเอามาใช้กับการกำกับหนังรักได้

ตัวอย่างคำแนะนำของ Ray Carney ในหนังสือ “ฟิล์มไวรัส 2”:

“ข้อความโกหกได้ แต่ความหมายแฝงไม่โกหก ถ้อยคำที่กล่าวออกมาไม่สำคัญเท่าเสียงที่ซ่อนอยู่ข้างใน เราอาจพูดทำนองว่า “ฉันไม่เป็นไร ไม่ต้องเป็นห่วงฉัน” แต่ซ่อนความระแวงอยู่ หรือพูดว่า “ฉันรักเธอ” ด้วยความดูถูก แม้ในขณะเมื่อเรากำลังพยายามบอกใครอย่างตรงไปตรงมา มันก็สามารถมีความหมายอื่นได้เสมอ เหมือนพูดว่า “เห็นไหมว่าฉันอ่อนหวานแค่ไหน” “ฉันทนได้โดยไม่ยอมบ่น” หรือ “บอกฉันสิว่าฉันปกติดีแล้ว”

แน่นอนว่าเราเป็นคนสุดท้ายที่จะรู้ตัวว่าเรากำลังทำเช่นนี้ เรา “ไม่” สามารถรู้สึกได้ เพราะในบรรดาคนทั้งหมดที่เรารู้จัก เรารู้จักตัวเองน้อยที่สุด คำพังเพยเกี่ยวกับแวมไพร์นั้นถูกต้อง: คุณไม่สามารถเห็นเงาตัวเองในกระจกได้ อย่างน้อยจงพยายามทำให้ตัวละครในหนังซับซ้อนเหมือนแฟนคนเก่าของคุณที่ชอบหลอกตัวเอง ในหนัง LOVE STREAMS ของ John Cassavetes ทุกครั้งที่โรเบิร์ต ฮาร์มอนด์อ้าปากพูด เขาคิดว่าตัวเองพูดอย่างหนึ่ง แต่คนดูได้ยินตรงกันข้าม ในหนังเรื่อง A LITTLE STIFF ของ Caveh Zahedi ทุกครั้งที่ตัวเอกคิดว่าเขากำลังหว่านเสน่ห์สาวได้สำเร็จ คนดูหนังกลับได้ความรู้สึกตรงกันข้าม

แต่อย่าลืมความเรียบง่าย: ความเรียบง่ายที่มาจากความเข้าใจตัวเอง มันเป็นสิ่งเดียวที่แยกความแตกต่างระหว่าง DUMB AND DUMBER กับบทละคร UNCLE VANYA ของ Anton Chekov ออกจากกัน

อีกคำแนะนำของ Ray Carney ที่เราว่าเปรี้ยงมากๆ:

“จุดหักเหของชีวิตมักเกิดขึ้นในสถานการณ์พื้นๆ ไม่ใช่ตอนที่ขับรถแข่ง แต่เป็นตอนที่นั่งเงียบๆในห้อง แล้วจู่ๆก็นึกอะไรออก ไม่ใช่ตอนที่ร้องตะโกนแหกปาก แต่เป็นขณะที่กำลังอ่านนิตยสาร รู้สึกเบื่อ หรือหมดกำลังใจ ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวละครต้องพบเจออะไรประหลาดพิสดารจึงจะช่วยให้ดูน่าสนใจ ลองถามตัวเองบ้างว่า ทำไมชีวิตพื้นๆจึงไม่น่าสนใจเพียงพอสำหรับคุณ”

3.แล้วเรามีความเห็นอะไรบ้างเกี่ยวกับหนังโรแมนติกยุคปัจจุบัน คำตอบก็คือเราอาจจะไม่มีความเห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก เพราะมันเป็นการยากสำหรับเราที่จะตั้งกฎเกณฑ์อะไรขึ้นมาสำหรับใช้แนะนำหนังได้ในทุกกรณีน่ะ เรามักจะพบว่าหนังเรื่อง A ทำแบบ B แล้วดีมาก แต่หนังเรื่อง C ทำแบบ B เหมือนกัน แต่ทำไมมันออกมาแย่มาก ในขณะเดียวกัน หนังเรื่อง D ทำแบบ E ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ B อย่างสิ้นเชิง แต่มันก็ออกมาดีมากเหมือนกัน ทั้งๆที่มันทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับหนังเรื่อง A คือเรามักจะเจออะไรแบบนี้บ่อยๆ จนในบางครั้งเราก็รู้สึกว่า “กฎก็คือไม่มีกฎอะไรที่แน่นอนตายตัว และไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่สามารถใช้ได้ในทุกๆกรณี” พอเราตั้งกฎอะไรขึ้นมา เราก็มักจะพบกับหนังที่ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกฎนั้น แต่มันออกมาเป็นหนังที่ดีมาก 555

4.แล้วผู้กำกับหนังควรจะทำอย่างไร ถ้าหากเขาอยากทำหนังรักที่เข้าทางเรา เราก็คิดว่าสิ่งที่เขาควรทำอาจจะมีเช่น

4.1 เรียนรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ถ้าหากเขาอ่านสิ่งที่ Ray Carney เขียน แล้วเห็นด้วย เขาก็ควรลองทำตามนั้น อย่างเช่น Ray Carney จะต่อต้านหนังที่ “กดปุ่มอารมณ์ผู้ชม” อย่างมากๆ เขาเกลียดหนังที่ทำตามสูตรที่ว่า เราต้องใส่ฉากนี้เข้ามาในช่วงนี้เพื่อทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกกังวล แล้วเราก็จะใส่ฉากนี้เข้ามาเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสบายใจขึ้นมาหน่อย และใส่ฉากนี้เข้ามาเพื่อให้ผู้ชมเครียดถึงขีดสุด และใส่ฉากนี้เข้ามาเพื่อให้ผู้ชมฟิน ร้องไห้ด้วยความปลื้มปีติ และออกจากโรงอย่างชื่นมื่น แน่นอนว่า ผู้ชมบางกลุ่มต้องการ “หนังที่กดปุ่มอารมณ์ผู้ชม” แบบนั้น แต่นั่นไม่ใช่เรา เราต้องการหนังที่ทำให้เราไม่แน่ใจว่าเรารู้สึกอะไรในขณะที่ดู เราต้องการหนังที่ทำให้เราพบว่าเรายังหาศัพท์มาบัญญัติความรู้สึกนั้นไม่ได้ หนังที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดเพราะมันขัดแย้งกับความเชื่อเก่าๆของเรา หนังที่ค้างคาใจเรา หนังที่ทำให้เราคิดไม่ตกไป 3 เดือนหลังจากดูหนังเรื่องนั้นเสร็จ หนังที่เราไม่สามารถหาข้อสรุปอะไรได้

แต่ผู้ชมทุกคนแตกต่างกันไป และผู้กำกับหนังทุกคนก็แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณพบว่าตัวเองไม่อยากทำหนังแบบ Ray Carney แต่ต้องการทำหนังที่กดปุ่มอารมณ์ผู้ชมได้ตามใจปรารถนา แบบหนังบอลลีวู้ดของอินเดียที่ดีๆ คุณก็ทำในแบบของคุณก็ได้ ถ้าหากนั่นเป็นสิ่งที่คุณถนัดและรักที่จะพัฒนาตัวเองในด้านนั้นจริงๆ สิ่งสำคัญก็คือคุณไม่ต้องทำตามคนอื่นๆหรอก เข้าใจตัวเองก่อนว่าตัวเองถนัดอะไร และชอบแบบไหน และทำตามนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังแนว Ray Carney ซึ่งเป็นหนังแนวที่เราชอบ หรือหนังแนว “กดปุ่มอารมณ์ผู้ชม” ซึ่งเป็นแนวที่เราไม่ชอบก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือ คุณไม่ต้องพยายามทำหนังให้เราชอบ ถ้าหากนั่นมันเป็นการฝืนตัวคุณเอง

4.2 อย่าหาทางออกที่ง่ายเกินไปให้แก่ตัวละคร ปัญหาที่พบในหนังสั้นของไทยหลายเรื่อง คือการหาทางออกที่ง่ายเกินไปให้แก่ตัวละคร โดยเฉพาะ “การถูกรถชนตาย” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนังของคุณห้ามมีตัวละครประสบอุบัติเหตุทางรถนะ เพราะมีหนังหลายเรื่องที่ตัวละครประสบอุบัติเหตุทางรถจนเสียชีวิต แต่มันก็ออกมาเป็นหนังที่ดีมาก เพราะหนังกลุ่มนี้มักจะสร้างจากชีวิตจริง และหนัง deal กับความเจ็บปวดของการสูญเสียตัวละครอย่างรุนแรงและหนักหน่วงจริงๆ ในหนังกลุ่มนี้นั้น “การที่ตัวละครประสบอุบัติเหตุทางรถจนเสียชีวิต” ไม่ใช่การหาทางออกง่ายๆให้แก่ตัวละครและหนัง แต่เป็นการจงใจก้าวเข้าไปทำในสิ่งที่ยากลำบากมากๆ นั่นก็คือการพยายามที่จะถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียออกมาให้ดีที่สุด ให้ “เจ็บปวด” ที่สุด โดยที่ไม่ฟูมฟายหรือบีบคั้นคนดูมากเกินไป หนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่น SYMMETRY (2015, Ukrit Malai, A+30), MY GRANDFATHER’S PHOTOBOOK (2015, ณัฐพล รักขธรรม + พัฒนะ ไพบูลย์, A+30) และ ODETE (2005, João Pedro Rodrigues, Portugal) ส่วนหนังสั้นของไทยที่หาทางออกง่ายๆให้แก่ตัวละคร ด้วยการให้ตัวละครถูกรถชนตายนี่ มีประมาณไม่ต่ำกว่า 50 เรื่องต่อปี

4.3 ทางออกที่ง่ายเกินไปอีกอย่างหนึ่งซึ่งพบได้ทั้งในหนังไทยและต่างประเทศ ก็คือการให้ตัวละครประเภท “คนรักของพระเอกก่อนที่เขาจะได้มาเจอกับนางเอก” หรือ “คนรักของนางเอกก่อนที่เธอจะได้มาเจอกับพระเอก” มีข้อเสียอะไรสักอย่าง อย่างเช่น นอกใจนางเอกหรือพระเอก เพื่อที่พระเอกหรือนางเอกจะได้เลิกกับคนรักได้โดยที่ “คนดูไม่รู้สึกผิด”

ชีวิตจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก และหนังเองก็ไม่จำเป็นต้องทำให้คนดูหลีกเลี่ยงจาก moral dilemma ที่เราสามารถพบได้ในชีวิตจริง ทำไมหนังเรื่อง MY DIARY 3811316 (2015, Pailin Chainakul) และ WE WISH (2014, Surawee Woraphot) ถึงติดสองอันดับหนังโรแมนติกที่เราชอบที่สุดในปีนี้ สาเหตุสำคัญอันหนึ่งมันก็เป็นเพราะว่า หนังไม่ได้หยิบยื่นทางออกง่ายๆให้แก่ตัวละครอย่างไงล่ะ แฟนของนางเอกใน MY DIARY 3811316 เป็นพ่อพระที่ประเสริฐมากๆ และหล่อมากๆด้วย และมันทำให้นางเอกตัดสินใจลำบาก  ส่วนแฟนของนางเอกใน WE WISH ก็ดูเหมือนเป็นคนที่ไม่มีข้อเสียอะไรเลย นอกจากว่า “น่าเบื่อ” และยิ่งนางเอกตกอยู่ในสถานะที่ตัดสินใจลำบากมากเท่าไหร่ หนังก็ยิ่ง “ตราตรึง” ในใจเราเท่านั้น

Ray Carney เองก็เคยเขียนในทำนองที่ว่า “จงอย่าทำหนังที่ป้อนความคิดของคุณให้แก่ผู้ชม แต่จงทำหนังที่ทำให้ผู้ชมคิด” จงทำหนังที่แม้แต่ตัวคุณเองก็ไม่รู้คำตอบ หรือตอบไม่ได้เช่นกันว่าถ้าหากตัวคุณเองอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น แล้วคุณควรทำเช่นใด ถ้าหากคุณมีคำตอบที่แน่นอนที่จะมอบให้แก่ผู้ชมอยู่แล้วว่า “นี่เป็นสิ่งที่ควรทำนะเมื่อเจอ dilemma แบบนี้” หนังเรื่องนั้นก็จะไม่น่าสนใจ หนังมันจะน่าสนใจยิ่งขึ้น ถ้าหากแม้แต่ตัวผู้กำกับเองก็ตอบไม่ได้เช่นกันว่า สิ่งที่ควรทำในสถานการณ์เช่นนั้นคืออะไร และสร้างหนังที่กระตุ้นให้ผู้ชมได้ใช้ความคิดเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ทำไม THE BRIDGES OF MADISON COUNTY (1995, Clint Eastwood, A+30) ถึงเป็นหนังโรแมนติกที่ทำให้เราร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงน่ะเหรอ เพราะมันก็ไม่ได้มอบทางออกง่ายๆให้แก่ตัวละครเช่นกัน นางเอกของเรื่องนี้มีครอบครัวที่อบอุ่น และมีสามีที่ดีมาก และนั่นมันทำให้เธอตัดสินใจได้ยากจริงๆว่าจะหนีตามชู้รักไปหรือไม่ ฉาก “การตัดสินใจ” ของเธอมันเป็นฉากคลาสสิคตลอดกาล เพราะมันไม่ได้หาทางออกง่ายๆให้แก่ตัวละครนี่แหละ และสำหรับเราแล้ว ไม่ว่าเธอจะเลือกเส้นทางไหน เธอก็ทำถูกทั้งคู่ ถ้าเธอจะหนีไปกับชู้ เราก็มองว่าเธอทำถูกแล้ว หรือถ้าหากเธอจะอยู่กับสามีต่อไป เราก็มองว่าเธอทำถูกแล้ว หนังที่เราต้องการคือหนังที่เต็มไปด้วยทางเลือกที่ยากลำบากแบบนี้นี่แหละ

4.4 อีกจุดที่เรามักชอบในหนังทั่วๆไป และรวมไปถึงหนังรักโรแมนติคของไทยด้วย ก็คือการ treat ตัวละครทุกตัว โดยเฉพาะตัวละครประกอบ เหมือนกับเป็น “มนุษย์” จริงๆน่ะ แทนที่จะ treat มันเป็น “ตัวละครที่มีบทบาทเพียงเพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึกร่วมไปกับหนัง”

Ray Carney เขียนถึงสิ่งนี้ไว้ดีมากๆว่า

“ตัวละครในหนังฮอลลีวู้ดเป็นเหมือนคนที่เพิ่งเริ่มมีชีวิตในวินาทีแรกที่หนังเริ่มเรื่องขึ้น แต่ถ้าเราลองหันมาดูหนังของ Yasujiro Ozu ตัวละครของเขามีตัวตนตั้งแต่ก่อนหนังเริ่ม และจะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปหลังจากที่หนังจบ คนเหล่านี้มีอดีต มีอนาคต มีวัยเยาว์ มีความทรงจำ มีครอบครัว ปู่ย่าตายาย ประวัติศาสตร์ ความหวัง แผนการ และความฝัน”

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หนังสั้นของไทยหลายเรื่องสอบผ่านในด้านนี้โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีหลัง แต่อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นหนังสั้นด้วยก็ได้นะ เพราะมันมีหนังสั้นไทยแนวโรแมนติกหลายๆเรื่อง ที่เน้นจับเพียงแค่ “ช่วงเวลาหนึ่ง” ของตัวละครเท่านั้น และหนังพวกนี้มันแสดงให้เห็นได้ดีมากๆว่า ผู้สร้างหนังคิดมาดีมากๆแล้วว่า ประวัติของตัวละครตัวนั้นเป็นอย่างไร คือคิดแบคกราวด์ของตัวละครมาประมาณ 5 หน้าก่อนที่ “วินาทีแรกของหนัง” จะเริ่มต้นขึ้น หนังในกลุ่มนี้ก็อาจจะมีอย่างเช่น –ed (2015, ตรีนุช ลีลาวศิน), หนังทุกเรื่องของ Natchanon Vana และหนังเรื่อง IN BETWEEN ระหว่างกัน (2014, Anuwat Amnajkasem, 10min) หนังกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆว่า ตัวละครในหนังมีชีวิตมานานแล้วก่อนที่หนังจะเริ่มเรื่องขึ้น

และเมื่อตัวละครใช้ชีวิตอยู่ในหนัง หนังที่ดีก็จะไม่ทำให้ตัวละครมีบทบาทแบบ stereotype ด้วย เพราะมนุษย์แต่ละคนไม่ได้มีบทบาทเป็น “นางรอง” หรือ “พระรอง” หรือ “นางอิจฉา” หรือ “ตัวตลก” ในชีวิตของใคร ทุกคนก็ล้วนเป็นพระเอกหรือนางเอกในชีวิตของตัวเอง หนังที่น่าเบื่อคือหนังที่ทำให้ตัวละครประกอบดูแบน และมีหน้าที่เพียงแค่ทำไปตามบทบาทเก่าๆซ้ำๆซากๆเหล่านี้ แต่หนังที่น่าสนใจก็มีอย่างเช่น “พฤษภาไม่นานก็คลี่คลาย” เพราะตัวละคร “เพื่อนนางเอก” ไม่ได้มีบทบาทเป็นแค่เพื่อนนางเอก ตัวละครเพื่อนนางเอกไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ “รับฟังสิ่งที่นางเอกพูด เพื่อที่นางเอกจะได้มีโอกาสระบายความในใจให้คนดูฟัง” และไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ “คอยให้กำลังใจนางเอก” ตัวประกอบใน “พฤษภาไม่นานก็คลี่คลาย” มีชีวิตเป็นของตัวเอง ในขณะที่นางเอกประสบปัญหาชีวิตรักนั้น ตัวละครเพื่อนนางเอกก็มีปัญหาชีวิตเป็นของตัวเองด้วย และนี่แหละคือวิธีทำให้ตัวละครเป็นมนุษย์ เพราะจริงๆแล้ว “เพื่อนนางเอก” หรือ “เพื่อนพระเอก” ทุกคนในหนังแต่ละเรื่อง ก็ต่างล้วนมี “ปัญหาชีวิต” เป็นของตัวเองเช่นกัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับ conflict หลักของเรื่องแต่อย่างใด

อีกตัวอย่างหนึ่งทีดีก็คือหนังเรื่อง “แบ็คแพคกล้วย” BANANAPACKERS (2015, นัฐพล ไหวพริบ, A+15) ที่ตัวละครตัวหนึ่งทำท่าว่าจะมีบทบาทเพียงแค่ “เป็นตัวตลก ขำๆ” เท่านั้น แต่ต่อมาหนังก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ตัวละครตัวนี้ไม่ได้เป็นตัวตลก แต่เป็นมนุษย์ เธอมีความคิดความอ่าน มีสติสตัง และสิ่งที่เธอทำตลกๆในช่วงต้นเรื่องนั่นน่ะ มันคือสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำเวลาไปเที่ยวจริงๆนั่นแหละ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีที่ตัวละครหลุดจาก stereotype ของตัวเองและมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

แล้วตัวอย่างที่ไม่ดีมีหนังเรื่องอะไรบ้าง ตัวอย่างที่เรามักยกมาพูดถึงบ่อยที่สุดก็คือ SOMETHING’S GOTTA GIVE (2003, Nancy Meyers) ที่หนังปฏิบัติต่อตัวละครของ Keanu Reeves ได้เลวร้ายสุดๆ คือหนังปฏิบัติต่อตัวละครตัวนี้เหมือนกับมันเป็น “พระรอง” แทนที่จะปฏิบัติต่อมันเหมือนมนุษย์น่ะ คือพอนางเอกตัดสินใจได้ปุ๊บว่าจะเอาพระเอก ไม่เอาพระรอง คนดูก็ไม่ได้เห็นตัวละครพระรองอีกต่อไป แทนที่จะได้เห็นว่าตัวละครพระรองเสียใจแค่ไหน ใจสลายแค่ไหน หนังพวกนี้พยายามทำให้คนดูมีความสุข และไม่ต้องรับรู้ moral dilemma ต่างๆแบบที่จะเจอได้ในชีวิตจริง แต่หนังแบบนี้นี่แหละที่เราดูแล้วทุกข์มากๆ และไม่รู้สึกมีความสุขเลย

หรือหนังแบบ THE WEDDING PLANNER (2001, Adam Shankman) ก็เหี้ยพอๆกัน คือพอพระเอกตัดสินใจได้ปุ๊บว่าจะเอานางเอก ไม่เอาแฟนของตัวเอง แฟนของพระเอกก็ดูเหมือนจะเออออห่อหมกกับพระเอกขึ้นมาอย่างกะทันหันว่า ฉันเองก็ลังเลเรื่องการแต่งงานอยู่เหมือนกัน เออดีแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เลิกๆกันไปเถอะ !!!!!!!!???????

หนังที่ตรงกันข้ามกับหนังฮอลลีวู้ดเหี้ยๆพวกนี้มีหนังเรื่องอะไรบ้าง เรื่องที่ดีมากเรื่องหนึ่งก็คือ THE BIRTH OF LOVE (1993, Philippe Garrel, A+30) ซึ่งเป็นหนังโรแมนติกที่งดงามที่สุดเรื่องนึงเท่าที่เราเคยดูมาในชีวิต ในหนังเรื่องนี้ พระเอกมีเมียมีลูกอยู่แล้ว แต่เขาก็ตกหลุมรักนางเอกซึ่งมีอายุห่างจากเขาเยอะมาก

ถ้าหากเป็นหนังฮอลลีวู้ดเหี้ยๆ หนังก็จะหลีกเลี่ยงการสร้าง moral dilemma ให้เรา และปฏิบัติต่อตัวละครประกอบต่างๆราวกับว่า มันมีหน้าที่ช่วยสร้างความสุขให้แก่ผู้ชมเท่านั้น เพราะฉะนั้นอีเมียพระเอกก็อาจจะมีชู้ซะ หรืออะไรทำนองนี้

แต่ THE BIRTH OF LOVE ไม่ทำอย่างนั้นจ้ะ หนังปฏิบัติต่อเมียพระเอกในฐานะมนุษย์จริงๆ มนุษย์ที่เหนื่อยยากอ่อนล้ากับชีวิต เธอเป็นหญิงวัยกลางคนที่หน้าตาเหน็ดเหนื่อยมากๆ และเชื่อไหมว่า เราดูหนังเรื่องนี้เมื่อ 15 ปีมาแล้ว แต่เราจำ “หน้านางเอก” ในหนังเรื่องนี้แทบไม่ได้เลย แต่สิ่งที่เราจำได้ติดตาไม่มีวันลืม ก็คือ “ใบหน้าของเมียพระเอกที่เหนื่อยล้าต่อชีวิต” อย่างรุนแรงนี่แหละ คนดูเข้าใจได้ดีว่าเพราะอะไรพระเอกถึงทิ้งเมียไปหานางเอก แต่หนังไม่ได้หยิบยื่น “ความสบายใจแบบอัดกระป๋อง” ให้แก่ผู้ชม เพราะผู้ชมจะไม่มีวันลืมใบหน้าที่เหนื่อยล้าต่อชีวิตของเมียพระเอก ใบหน้านั้นมันอาจจะติดตามหลอกหลอนพระเอกไปอีกนาน และมันก็ติดตาหลอกหลอนเรามาจนถึงทุกวันนี้ด้วย

และฉากที่เราจำได้ไม่มีวันลืมใน THE BIRTH OF LOVE คือฉากอะไร มันคือฉากในช่วงกลางเรื่องที่ลูกชายของพระเอกตะโกนเรียกพ่อให้กลับบ้าน ขณะที่พ่อตัดสินใจทิ้งครอบครัวไปหานางเอก ตัวลูกชายตะโกนเรียกพ่ออย่างยาวนาน โหยหวน และใจสลายอย่างสุดๆ และนี่แหละคือตัวอย่างของหนังที่ treat ตัวละครประกอบแบบเป็น “มนุษย์” จริงๆ

4.5 ลองทำหนังจากเรื่องใกล้ๆตัว หรือจากประสบการณ์รักในชีวิตของตัวเองหรือเพื่อนตัวเอง ไม่ต้องทำหนังที่มี “เหตุการณ์” เกิดขึ้นมากมาย แต่เน้นไปที่ความรู้สึกละเอียดอ่อนของสถานการณ์ต่างๆในความสัมพันธ์ คือวิธีการแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับผู้กำกับทุกคนนะ แต่มันมีหนังสั้นไทยหลายเรื่องที่ดีมากๆเพราะมันทำแบบนี้ โดยเฉพาะหนังของ ICT ศิลปากร อย่างเช่นเรื่อง BE_WHERE (2013, Pornsiri Tonbaisri), FRIENDS SHIFT (2013, Boonyarit Wiangnon), I CAN’T TELL YOU WHY (2013, Anan Pakbara), A MOMENT (2013, Siriporn Chorjiang),  POINT OF VIEW (2013, Praneet Charuphan-ngam), SOME RECOLLECTIONS OF YOU (2013, Chatrawut Chalayondecha), DISTANCE (2010, Chonlasit Upanigkit), TOMORROW OF YESTERDAY (2015, Atis Kitsupapaisal) หนังกลุ่มนี้มันนุ่มนวลมากๆ และมันเค้นเอาความรู้สึกละมุนละไม เปราะบาง ละเอียดอ่อนของแต่ละสถานการณ์ออกมาได้สุดๆมากๆเลยน่ะ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไรมันถึงทำได้แบบนี้ แต่เราว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าผู้กำกับบางคนมีประสบการณ์คล้ายๆกับเหตุการณ์ในหนัง ผู้กำกับจึงสามารถเข้าใจทุก step ของอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละเหตุการณ์ได้

แต่หนังของมหาลัยอื่นที่ “ละเอียดอ่อนทางอารมณ์แบบสุดๆ” ก็มีเหมือนกันนะ อย่างเช่น MENSTRUAL SYNCHRONY (2014, Jirassaya Wongsutin) ของจุฬา, BEFORE SUNSET (2013, Supalerk Silarangsri + Atchareeya Jattuporn) ของจุฬา หรือ BLUE LOVE ก่อนรักจะกลายเป็นความผูกพัน (2011, It Khaena) ของม.นเรศวร  ที่ทำออกมาได้ดีสุดๆเหมือนกัน

และโดยส่วนตัวแล้ว เรามีแนวโน้มที่จะชอบหนังแบบนี้นี่แหละ หนังแบบที่ไม่มีเหตุการณ์หวือหวาอะไรเกิดขึ้น แต่เน้นลงลึกไปในอารมณ์ความรู้สึกของเหตุการณ์ธรรมดาๆ

หนังกลุ่มหนึ่งที่เราชอบมากที่สุดในชีวิต ก็คือ หนังกลุ่ม “เที่ยวทะเล” ของ Eric Rohmer อย่างเช่นเรื่อง LA COLLECTIONNEUSE (1966), PAULINE AT THE BEACH (1982), THE GREEN RAY (1986) และ A SUMMER’S TALE (1996) ในหนังกลุ่มนี้นั้น มันแทบไม่มีเหตุการณ์หวือหวาอะไรเกิดขึ้นเลย ตัวละครกลุ่มหนึ่งไปเที่ยวทะเล เจอสาวหรือหนุ่มที่น่าสนใจ ปิ๊งกัน พูดคุยกัน และหนังก็ปฏิบัติต่อตัวละครเหล่านี้อย่างเป็นมนุษย์จริงๆ พวกเขาพูดคุยกันอย่างยืดยาว และคุยกันถึงเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญต่อพล็อตเรื่อง อย่างเช่นในฉากหนึ่งของ THE GREEN RAY ที่ตัวละครกลุ่มหนึ่งโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและยาวนานมากๆเรื่องการกินมังสวิรัติ แต่เพราะการที่หนัง treat ตัวละครทุกคนในเรื่องเป็นมนุษย์จริงๆนี่แหละ แทนที่จะ treat มันเป็นเพียงแค่ “พระเอกในหนังโรแมนติก” และ “นางเอกในหนังโรแมนติก” ที่ทำให้หนังกลุ่มนี้กลายเป็นหนังที่เรารักที่สุดตลอดกาล

ลองหาหนังโรแมนติกชายทะเล 4 เรื่องนี้ของ Eric Rohmer มาดู-- LA COLLECTIONNEUSE (1966), PAULINE AT THE BEACH (1982), THE GREEN RAY (1986) และ A SUMMER’S TALE (1996) และดูว่าหนังมัน treat ตัวละครของมันอย่างไร และลองเปรียบเทียบกับหนัง “สูตรสำเร็จ” ที่เป็นเรื่องของหนุ่มสาวปิ๊งกันที่ทะเลอย่าง BACK TO LOVE เพื่อดูว่ามันแตกต่างกันอย่างไร โดยสิ่งที่ปรากฏในหนังของ Eric Rohmer นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องการในหนังโรแมนติก ส่วนสิ่งที่ปรากฏในหนังเรื่อง BACK TO LOVE นี่แหละคือสิ่งที่ไม่เข้ากับรสนิยมส่วนตัวของเรา

อันนี้เป็นลิงค์หนังเรื่อง BACK TO LOVE จ้ะ


ปัญหาของเราที่มีกับหนังเรื่อง BACK TO LOVE ก็คือการที่หนังมันดูเป็น “สูตรสำเร็จ” มากๆนี่แหละ แต่ก็อย่างที่ Ray Carney ว่าไว้ ถ้าหากคุณจะสร้างหนังตาม “สูตรสำเร็จ” มันก็เรื่องของคุณ แต่เราไม่เชื่อหรอกว่าศิลปินอย่าง Van Gogh, Picasso หรือ Rembrandt วาดภาพตามสูตรสำเร็จ

No comments: