Sunday, November 15, 2015

BRING CHALEE HOME (2015, Nasrey Labaideeman, stage play, A+15)

BRING CHALEE HOME (2015, Nasrey Labaideeman, stage play, A+15)
ชาลีมีโฮม

1.ดูแล้วไม่เข้าใจหรอกนะ 555 ไม่เข้าใจในที่นี้หมายถึงว่าเราไม่แน่ใจว่าละครเวทีเรื่องนี้ต้องการจะสื่อถึงอะไร หรืออะไรคือ theme หลักนะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเขียนต่อไปนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าละครเรื่องนี้สื่อถึงอะไร หรือต้องการจะบอกอะไรคนดู แต่สิ่งที่เราเขียนคือการจดบันทึกว่า ละครเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร หรือทำให้เรานึกถึงอะไรบ้าง โดยที่ตัวผู้สร้างละครอาจจะไม่ได้ตั้งใจทำให้เรานึกถึงก็ได้

2.ถ้าอ่านจากสูจิบัตร ดูเหมือนว่าประเด็นนึงในละครเรื่องนี้คือเรื่องการกำหนดว่าใครเป็นเด็ก และใครเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราอาจจะไม่เคยคิดถึงมาก่อน หรือไม่เคยสนใจมาก่อน เพราะฉะนั้นตอนที่เราดูละครเรื่องนี้ เราก็เลยไม่ทันนึกถึงประเด็นนี้เลย หรือพอดูจบแล้ว เราก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงมันกับละครได้แบบเป๊ะๆ หรือในแบบที่ว่า พอเอาประเด็นนี้มาจับปุ๊บ เราจะเข้าใจทุกอย่างในละครได้ในทันที

3.แต่สิ่งที่ชอบมากในละครเรื่องนี้ก็คือการที่ตัวละครมะลิ (ณัฐญา นาคะเวช) กลายสภาพเป็นคนป้ำๆเป๋อๆ เหมือนเป็นโรคอัลไซเมอร์ แล้วช่วยตัวเองไม่ได้ในช่วงท้ายๆของเรื่อง แล้วลูกกลับกลายเป็นฝ่ายที่ต้องมาคอยดูแล ประคบประหงม ในสภาพที่สลับกับช่วงต้นเรื่องที่ฝ่ายแม่ต้องคอยประคบประหงมลูกในช่วงนั้น

เราว่าจุดที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรงที่สุดในละครเรื่องนี้ก็คือการที่ตัวละครมะลิพูดแต่คำว่า ชั่วช้า ชั่วช้า ชั่วช้า ซ้ำไปซ้ำมาในช่วงท้ายของเรื่องนั่นแหละ เราว่าจุดนี้มันกระทบอารมณ์ความรู้สึกเรารุนแรงมากที่สุดในละครเรื่องนี้

4.อีกจุดที่ชอบมากในละครเรื่องนี้คือประโยคคำถามในช่วงกลางเรื่องที่ว่า “ความเป็นแม่กับความเป็นลูกอะไรเกิดขึ้นก่อนกัน” ซึ่งเป็นคำถามที่ประหลาดมาก ไม่รู้คิดขึ้นมาได้ยังไง คือพอได้ยินคำถามนี้ปุ๊บ ในใจเราจะตอบไปโดยอัตโนมัติว่า “มันเกิดขึ้นพร้อมกัน” แต่ตัวละครในเรื่องนี้กลับตอบในสิ่งที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดมากๆ นั่นก็คือตัวละครตอบในทำนองที่ว่า “ความเป็นแม่เกิดขึ้นก่อน” เพราะคนเป็นแม่ “รู้ตัว” ว่าตัวเองเป็นแม่ก่อน ในขณะที่คนเป็นลูกนั้น พอคลอดออกมาจากท้องแม่แล้ว มันยังไม่รู้ตัวหรอกว่าตัวเองเป็นลูก มันต้องใช้เวลาสักระยะนึง อาจจะซัก 2-3 ปี กว่ามันจะ “รู้ตัวว่าตัวเองเป็นลูก”

ไม่รู้ว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักของเรื่องหรือเปล่า แต่มันเป็นประเด็นที่เราชอบมากๆ และนำไปคิดต่อยอดถึงเรื่องอื่นๆได้อีกมากมาย โดยที่ผู้สร้างละครเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ เพราะการสนทนากันในฉากนี้ ทำให้เราคิดถึงประเด็นที่ชอบมากๆ นั่นก็คือ ประเด็นเรื่องมายาคติเกี่ยวกับความเป็นพ่อแม่ลูกอะไรทำนองนี้

ซึ่งละครเรื่องนี้มันมีจุดอื่นๆอีกที่ทำให้เราคิดถึงประเด็นนี้นะ โดยเฉพาะตัวละครมะลิที่เหมือนถูกมายาคติเกี่ยวกับความเป็นแม่เข้าครอบงำ เธอพยายามช่วยเหลือชาลีราวกับว่าเขาเป็นลูกของเธอ เธอเหมือนใช้ชาลีเป็นจุดหมายในการทำสิ่งต่างๆในชีวิต (เธอพยายามเดินทางไปที่นั่นที่นี่ เพื่อทำให้ชาลีมี “บ้าน”) มันทำให้นึกถึงแม่หลายๆคนที่พยายามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วอ้างว่าตัวเองทำเพื่อลูก ราวกับว่าพวกเธอมีชีวิตอยู่เพื่อลูกของตัวเองเท่านั้น แต่ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเธอเอง และในหลายๆครั้ง แม่เหล่านี้ก็ทำในสิ่งที่เลวร้าย โดยอ้างว่าทำเพื่อลูก อย่างเช่นในเรื่องนี้พอชาลีฆ่าคน มะลิก็เข้าข้างชาลี

และความผิดที่แม่หลายคนมักจะทำในความเป็นจริง ก็คือการหวงลูกมากเกินไป ซึ่งจุดที่ทำให้เรานึกถึงสิ่งนี้ ก็คือฉากที่มะลิฆ่า “คนที่อาจจะเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงของชาลี” ซึ่งมันเป็นอีกจุดที่พีคมากๆในละครเรื่องนี้ และทำให้ละครเรื่องนี้ dark มากๆ และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราชอบละครเรื่องนี้ถึงขั้น A+15 เพราะเราว่าจุดนี้มันทำให้เรานึกถึงความเห็นแก่ตัวของมนุษย์หลายๆคนน่ะ โดยเฉพาะแม่ที่อ้างว่าตัวเองรักลูกมาก แต่ไม่ได้นึกถึงความสุขของลูกๆเป็นหลัก แต่นึกถึงความสุขของตัวเองเป็นหลัก คือถ้าหากมะลินึกถึงความสุขของชาลีเป็นหลักอย่างแท้จริง มะลิควรจะปล่อยให้ชาลีไปอยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริง และได้อยู่ใน “โฮม” ที่ชาลีต้องการจะอยู่อย่างแท้จริง แต่เอาเข้าจริงแล้ว มะลิที่เดินทางร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ โดยอ้างว่าตัวเองทำเพื่อชาลีนั้น จริงๆแล้วไม่ได้คำนึงถึงความสุขของชาลีเป็นหลักอย่างแท้จริงหรอก เธอคำนึงถึงความสุขของตัวเองเป็นหลักต่างหาก เธอมีความสุขที่ได้คอยเลี้ยงดูชาลี เพราะฉะนั้นเมื่อชาลีจะเริ่มห่างจากเธอไป เธอจึงฆ่าคนที่ชาลีจะไปอยู่ด้วย ถึงแม้คนคนนั้นสามารถให้ความสุขที่แท้จริงกับชาลีได้ก็ตาม

คือจุดนี้ของละครมันทำให้เรานึกถึงพ่อแม่หลายๆคนที่ห้ามลูกทำในสิ่งที่จริงๆแล้วเป็นความสุขของลูกน่ะ อย่างเช่นลูกอยากจะเรียนภาพยนตร์ พ่อแม่ก็ห้ามเรียนอะไรทำนองนี้ พ่อแม่เหล่านี้บอกกับตัวเองและคนอื่นๆว่าพวกเขามีชีวิตอยู่เพื่อลูก ทำสิ่งต่างๆเพื่อลูก แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้ต้องการเห็นลูกมีความสุขจริงๆหรอก พวกเขาไม่สนใจหรอกว่าความสุขที่แท้จริงของลูกคืออะไร พวกเขาเห็นความสุขของตัวเองสำคัญกว่า และความสุขของพวกเขาก็คือ “การได้บังคับให้ลูกทำอย่างที่พวกเขาต้องการ”

5.อีกจุดที่ละครเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจสื่อถึง แต่เป็นสิ่งที่เราชอบมาก นั่นก็คือ “เชือก” คือในช่วงต้นของละครเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงการมีลูกน่ะ คือพอเรามีลูก เราก็จะพยายามทำสิ่งต่างๆเพื่อสร้างบ้านที่ดีให้กับเขา (เหมือนกับ การพาเขาไปหาบ้าน), เราจะอบรมสั่งสอนเขา (บทบาทของ “หนังสือ” ในละครเรื่องนี้) และเราจะสร้างสายสัมพันธ์กับเขา (เชือก) แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกนั้น มันมีทั้งด้านดีและด้านลบ เหมือนกับเชือกในเรื่องนี้ ที่กลายเป็นอาวุธฆ่าคนได้ในหลายๆครั้ง

6.อีกจุดที่ชอบมากในละครเรื่องนี้ ก็คือเหมือนมันเป็นการผสม “นิทานสำหรับเด็ก” กับละครเวทีแนวแอบเสิร์ดเข้าด้วยกันน่ะ คือโทนของมันเหมือนนิทานสำหรับเด็กน่ะ ซึ่งนิทานสำหรับเด็กหลายๆเรื่องมันจะมีอะไรดาร์คๆอยู่ด้วย และถ้าดัดแปลงดีๆมันจะทรงพลังมาก อย่างเช่นหนังเรื่อง THE VISIT (2015, M. Night Shyamalan, A+30) ที่เหมือนเป็นการดัดแปลงนิทานเรื่อง HANSEL & GRETEL กับหนูน้อยหมวกแดงมาผสมเข้าด้วยกัน แต่นิทานสำหรับเด็กมันจะต่างจากละครเวทีแนวแอบเสิร์ดในแง่ที่ว่า นิทานสำหรับเด็กมันจะเข้าใจง่าย และมันจะไม่กระตุ้นความคิดเหมือนละครแอบเสิร์ด เพราะฉะนั้นถึงแม้ BRING CHALEE HOME จะมีโทนเหมือนนิทานสำหรับเด็ก แต่มันดูแล้วตีความยาก และกระตุ้นความคิดมากๆเหมือนละครเวทีแนวแอบเสิร์ด

คือเราว่าการผสมสองอย่างเข้าด้วยกันนี้เป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะมันมีละครเวทีแนวนิทานสำหรับเด็กเยอะแล้ว และก็มีละครเวทีแนวแอบเสิร์ดเยอะแล้ว แต่ละครเวทีที่ผสมสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน มันอาจจะยังมีไม่เยอะ

7.ดูแล้วนึกถึงหนังเรื่อง NURSE ROOM (2012, Nasrey Labaideeman, A+30) ด้วย เพราะ NURSE ROOM ก็มีความแอบเสิร์ด และตัวละครก็เดินทางไปพบเจอบุคคลต่างๆมากมายเหมือนกัน แต่เราจะชอบ NURSE ROOM มากกว่า BRING CHALEE HOME เพราะปัจจัยอันนึงก็คือว่า หนังไทยแนวแอบเสิร์ดแบบ NURSE ROOM มันหาดูได้ยาก มันไม่ค่อยมีคนทำกัน แต่ละครเวทีแนวแอบเสิร์ดอย่าง BRING CHALEE HOME มันอาจจะหาดูได้ง่ายกว่า

8.แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่ได้ชอบ BRING CHALEE HOME ในระดับ A+30 มันอาจจะเป็นเพราะว่า เราไม่เข้าใจมัน และเราไม่ได้สนุกไปกับมันแบบสุดๆเหมือนหนังบางเรื่องที่เราสนุกกับมันมากๆได้ โดยที่เราไม่เข้าใจความหมายของมันเลย

คือตอนที่ดู BRING CHALEE HOME เราจะนึกถึงหนัง surreal สองเรื่องที่เป็น road movie ตัวละครเดินทางผจญภัยเฮี้ยนๆเหมือนกัน แต่หนังสองเรื่องนี้เราจะชอบแบบสุดๆ ซึ่งได้แก่

8.1 THE MILKY WAY (1969, Luis Buñuel, A+30) อันนี้ที่เราชอบมาก เพราะปัจจัยนึงคือเราเข้าใจมันด้วยแหละว่ามันเสียดสีคนกลุ่มต่างๆในองค์การศาสนา เพราะฉะนั้นถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์พิศวงพิสดารอะไรขึ้นในเรื่อง เราก็จะเข้าใจมันในระดับนึงว่าเป้าหมายที่หนังต้องการจะโจมตีคืออะไร


8.2 FANDO AND LIS (1968, Alejandro Jodorowsky, A+30) อันนี้ดูแล้วไม่เข้าใจอะไรเลยว่าหนังต้องการจะสื่อถึงอะไร แต่ก็ชอบสุดๆ เพราะมันสนุกมาก เฮี้ยนมาก จัญไรมาก (คำชม) 

No comments: