Wednesday, November 11, 2015

WALL (2015, Sirimas Yodsuwan, stage play, A+20)

WALL (2015, Sirimas Yodsuwan, stage play, A+20)
+BEAUTIFUL THINGS + THE ART OF BEING RIGHT

--ช่วงแรกๆของ WALL ชอบสุดๆในระดับ A+30 แต่พอจบแล้วรู้สึกมันสั้นไป 555 เหมือนได้กินอาหารที่อร่อยมากๆแค่ครึ่งจาน

--นักแสดงของ WALL เล่นได้ดีมากๆ สุดยอดมากๆ กวิน พิชิตกุลนี่เรายกให้เป็นหนึ่งในนักแสดงละครเวทีที่มาแรงที่สุดในช่วงสองปีนี้เลย ส่วนมาเรียน พุ่มอ่อนนั้นเราดูแล้วนึกถึงนักแสดงหญิงในหนังฝรั่งเศสอย่าง Sandrine Kiberlain ในแง่ที่ว่า มันมีทั้งความเปราะบางและความหัวแข็งผสมกันอยู่ในตัวน่ะ

--เราว่าบทของ WALL มันคิดตัวละครของมันออกมาดีด้วย คือเราดูแล้วรู้สึกเชื่อว่าตัวละครสองตัวนี้มันเป็นมนุษย์จริงๆน่ะ แต่เราอยากให้บทมันคิด “สถานการณ์” เพิ่มขึ้นมาอีก 1-2 ฉากน่ะ เพราะแค่นี้เรารู้สึกว่ามันสั้นไป

--ปรากฏว่าดูละครเวทีที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ไปแล้ว 3 เรื่อง ซึ่งได้แก่ BEAUTIFUL THINGS (Vachiraya Rienthongkham), THE ART OF BEING RIGHT (Thanaphon Accawatanyu) และ WALL ปรากฏว่าเราชอบมากๆทั้ง 3 เรื่องเลย และทั้ง 3 เรื่องก็ดูเหมือนจะนำเสนอความสัมพันธ์หญิงชายเหมือนกันด้วย แต่นำเสนอออกมาในสไตล์ไม่ซ้ำกันเลย โดย BEAUTIFUL THINGS นำเสนอออกมาในแบบที่ดูเป็นนามธรรมมากที่สุด ส่วน THE ART OF THE BEING RIGHT นำเสนอออกมาในแบบ realistic ที่สุด และมีความซับซ้อนทางเพศมากที่สุด ส่วน WALL นั้นดูง่ายที่สุด เพราะมันเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้นจนจบความสัมพันธ์ ในขณะที่ THE ART OF BEING RIGHT นั้น มันหยิบมาเล่าแค่ฉากเดียว และคนดูต้องตั้งสติในการฟังบทสนทนาตัวละครมากเป็นพิเศษเพื่อจะได้ปะติดปะต่อให้ได้ว่า ตัวละครทั้งสองตัวนี้มีความเป็นมายังไง และมีชีวิตอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนแค่ไหน

พอดูละครเวที 3 เรื่องนี้แล้ว ทำให้นึกถึงหนังฝรั่งเศสกลุ่ม Post New Wave นะ พวกหนังของ Maurice Pialat, Jacques Doillon, Claude Sautet, Philippe Garrel, Jean Eustache อะไรพวกนี้ ที่ทำหนังสะท้อนความสัมพันธ์หญิงชายเหมือนๆกัน และทำออกมาได้ร้าวรานใจมากๆ สะเทือนใจมากๆ และแต่ละคนก็มีสไตล์แตกต่างกันไปในรายละเอียดด้วย ถึงแม้ว่าดูเผินๆแล้วอาจจะคล้ายๆกัน

ถ้าหากเปรียบเทียบละครเวที 3 เรื่องนี้แล้ว เราชอบ BEAUTIFUL THINGS มากที่สุดนะ เพราะมันเหมือนเจาะลึกเข้าไปในจิตวิญญาณตัวละครได้มากที่สุดน่ะ และเรารู้สึกหลอนมากๆ, ฝังใจมากๆ และสะเทือนใจมากๆกับใบหน้านางเอกที่นั่งนิ่งๆ คือจริงๆแล้วเราดู BEAUTIFUL THINGS ไม่เข้าใจหรอก แต่เรารู้สึกว่ามันสะเทือนใจเราเหมือนกับเวลาเราดูหนังของ Marguerite Duras และ Chantal Akerman น่ะ คือหนังพวกนี้เราจะดูแล้วไม่เข้าใจมันทั้งหมด แต่มันจะมีความแอบสแตรคท์บางอย่างที่มันบีบคั้นหัวใจเราอย่างรุนแรงมาก โดยที่เราไม่เข้าใจเลยว่ามันคืออะไร เรารู้แต่ว่าเรารู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง

ส่วน THE ART OF BEING RIGHT นั้น คิดบทสนทนาของตัวละครออกมาได้ดีมากๆ แต่สาเหตุที่เราอาจจะไม่ได้ชอบสุดๆเป็นเพราะว่า เราอาจจะเป็น “นักดูหนัง” มากกว่า “นักดูละครเวที” น่ะ และเราก็เลยรู้สึกว่า เราอาจจะชอบมันมากกว่านี้ ถ้าหาก THE ART OF BEING RIGHT มันเป็นหนัง และเราได้เห็นใบหน้านักแสดงแบบโคลสอัพ และเห็นใบหน้านักแสดงหญิงชายตัดสลับกันไปมา

คือตอนที่เราดู THE ART OF BEING RIGHT เรารู้สึกเหมือนกับว่า เราได้รับอารมณ์ไม่ครบถ้วนจากมันน่ะ และสาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่า มันเป็นละครเวทีแบบ realistic และเราก็นั่งแถวหลัง และเราก็หูไม่ค่อยดี เราก็เลยได้ยินนักแสดงไม่ค่อยชัดในบางครั้ง และความที่มันเป็นละครเวที เราก็เลยไม่ได้เห็นใบหน้านักแสดงแบบโคลสอัพ และก็ไม่ได้เห็นใบหน้านักแสดงทั้งสองคนในคราวเดียวกันด้วย เราก็เลยแอบสงสัยว่า ถ้าหากมันเป็น “ภาพยนตร์” ที่ทำให้เราได้เข้าใกล้ “ใบหน้า” และ “เสียง” ของนักแสดงมากกว่านี้ เราจะได้รับพลังทางอารมณ์จากมันมากขึ้นหรือเปล่า


หรือจริงๆอาจจะไม่เกี่ยวก็ได้นะ บางทีอาจจะเป็นรสนิยมส่วนตัวของเราเอง คือเราว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่เราอาจจะชอบ BEAUTIFUL THINGS มากที่สุด เป็นเพราะว่าความเป็น abstract ของมัน ช่วยให้มันก้าวข้ามขีดจำกัดบางอย่างของสถานการณ์แบบ realistic ใน THE ART OF BEING RIGHT และ WALL ได้น่ะ คือพอ THE ART OF BEING RIGHT กับ  WALL เสนอสถานการณ์แบบ realistic มันก็เลยเหมือนมันสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกเราได้ในระดับใกล้เคียงกับหนังของ Claude Sautet และ Jacques Doillon แต่มันไม่สามารถทำให้เรารู้สึก “เป็นบ้า” ได้เหมือนอย่างหนังของ Philippe Garrel ที่มันสามารถแทงทะลุเข้าไปในจิตใจเราได้ในอีก layer นึงที่ลึกกว่า

No comments: