Wednesday, February 17, 2016

FAIR PLAY (2014, Andrea Sedlácková, Czech, A+25)

FAIR PLAY (2014, Andrea Sedlácková, Czech, A+25)

1.เป็นหนังที่มีประเด็นดีๆเยอะมาก และประเด็นดีๆในหนังเรื่องนี้ได้รับการพูดถึงอย่างละเอียดไปแล้วในช่วง talk หลังหนังฉาย เพราะฉะนั้นเราจะข้ามประเด็นดีๆเหล่านี้ไป  และจะจดบันทึกเฉพาะความเห็นเล็กน้อยส่วนตัวเท่านั้น 555

2.บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราถึงไม่ชอบหนังในระดับ A+30 คือในอนาคตเราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆก็ได้นะ ต้องรอดูไปก่อน แต่ตอนนี้เรายังรู้สึกว่า “อารมณ์” ของหนังมันยังไปไม่สุดน่ะ เหมือนหนังมันมีประเด็นที่ดีมากๆ ประเด็นแข็งแรงมาก แต่การขับเน้นอารมณ์ของตัวละครและการเล่นกับอารมณ์ของคนดูเหมือนมันยังไปไม่สุดน่ะ คือเราว่าหนัง “เล่าเรื่อง” ได้ดีมาก และพอเราคิดถึง “การกระทำ” และ “การตัดสินใจ” ต่างๆของตัวละคร เราก็รู้สึกว่าตัวละครมันตัดสินใจและกระทำสิ่งต่างๆที่น่าสนใจมาก แต่ทำไม “อารมณ์” ของหนังมันยังไปไม่สุดก็ไม่รู้ เหมือนผู้กำกับยังไม่รู้วิธี ดึงเอาอารมณ์ของตัวละครให้มาประสานอย่างรุนแรงกับอารมณ์ของผู้ชมได้

คือเราว่าผู้กำกับเก่งเรื่อง “การเล่าเรื่อง” และ “การนำเสนอประเด็น” แล้วล่ะ แต่ในด้าน “อารมณ์” นั้น เราว่ามันยังไม่เปรี้ยงจริงๆ คือถ้ามันเปรี้ยงจริงๆ หนังเรื่องนี้น่าจะทำให้เรารู้สึกรุนแรงกับมันมากๆแบบหนังเกี่ยวกับเยอรมันตะวันออกอย่าง FORGIVENESS (1994, Andreas Höntsch), THE FAREWELL – BERTOLT BRECHT’S LAST SUMMER (2000, Jan Schütte) และ  THE LIVES OF OTHERS (2006, Florian Henckel von Donnersmarck) แล้วล่ะ คือหนังเกี่ยวกับเยอรมันตะวันออกเหล่านี้มันสะท้อนสภาพสังคมที่คล้ายๆกัน และตัวละครก็เจอ dilemma คล้ายๆกัน นั่นคือการต้องเลือกว่าจะยอมทำตามคำสั่งของระบอบเผด็จการ หรือจะไม่ยอมทำตามคำสั่ง แต่เราว่าหนังเกี่ยวกับเยอรมันตะวันออกกลุ่มนี้มันสามารถลงลึกด้านอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ลึกกว่า FAIR PLAY มันก็เลยทรงพลังกว่า

3.สิ่งหนึ่งที่คิดถึงหลังจากดู FAIR PLAY ก็คือว่า บางทีเราอาจจะได้คำตอบของคำถามข้อหนึ่งที่เราสงสัยมานานแล้วล่ะว่า ทำไมยุโรปถึงผลิตหนังเกี่ยวกับ “ความเลวร้ายของระบอบเผด็จการนาซี” เยอะมาก แต่ผลิตหนังเกี่ยวกับ “ความเลวร้ายของระบอบคอมมิวนิสต์” ในจำนวนที่น้อยกว่าเยอะ

คือเราว่ามันมีปัจจัยหลายประการแหละที่ทำให้มันเป็นแบบนั้น ปัจจัยสำคัญอันนึงก็คือว่า คอมมิวนิสต์มันกระทบแค่ยุโรปตะวันออก แต่นาซีมันกระทบทั้งยุโรป แต่ปัจจัยอีกอันนึงที่เราคิดขึ้นมาได้หลังจากดู FAIR PLAY ก็คือว่า ระบอบคอมมิวนิสต์มันโหดเหี้ยมน้อยกว่าน่ะ มันไม่ได้ดำสนิทแบบนาซี และพอมัน “ชั่วร้าย” น้อยกว่านาซี มันก็เลย “ยากกว่า” ในการดัดแปลงนำประเด็นนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ทรงพลัง (เหมือนผู้กำกับคนนึงเคยกล่าวไว้ว่า “ยิ่งความชั่วร้ายในหนังทรงพลังมากเท่าใด ตัวหนังเองก็จะยิ่งทรงพลังมากเท่านั้น”)

คือ FAIR PLAY มันแสดงให้เห็นความเลวร้ายของระบอบเผด็จการได้ดีมากๆนะ แต่เราแอบสงสัยว่า ปัจจัยนึงที่ทำให้หนังมันไม่ทรงพลังสุดๆ นอกจากอาจจะเป็นเพราะฝีมือของผู้กำกับแล้ว บางทีอาจจะเป็นเพราะ “สถานการณ์ในหนัง” มันไม่เลวร้ายสุดๆเหมือนหนังเกี่ยวกับ “หญิงสาวผู้ต้านระบอบเผด็จการ” อย่าง SOPHIE SCHOLL – THE FINAL DAYS (2005, Marc Rothemund, Germany) ที่สะท้อนความเลวร้ายของนาซี และ GARAGE OLIMPO (1999, Marco Bechis) ที่สะท้อนความเลวร้ายของเผด็จการทหารในอาร์เจนตินาก็ได้ คืออย่างใน SOPHIE SCHOLL กับ GARAGE OLIMPO นั้น โทษของการต่อต้านระบอบเผด็จการ คือการถูกประหารชีวิต หรือการถูกสังหารหมู่ด้วยวิธีการที่ทารุณน่ะ ในขณะที่ใน FAIR PLAY นั้น โทษของการต่อต้านระบอบเผด็จการ คือการติดคุก 18 เดือน และการกลายเป็นคนงานต๊อกต๋อย

คือเราว่าพอเอาหนังเกี่ยวกับความเลวร้ายของระบอบเผด็จการมาเปรียบเทียบกันแล้ว เราจะมองเห็นได้ชัดว่าระบอบเผด็จการในยุโรปตะวันออกมันเลวร้ายมาก แต่มันสู้นาซีกับเผด็จการทหารในอเมริกาใต้ไม่ได้น่ะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งหรือเปล่า ที่ทำให้การนำเสนอความเลวร้ายของยุคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก เป็นประเด็นที่ “ยาก” กว่าการนำเสนอความเลวร้ายของยุคนาซี

แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆที่มีหนังอย่าง FAIR PLAY ออกมา เพราะเผด็จการในแต่ละที่และในแต่ละสถานการณ์มันมีความแตกต่างในตัวมันเอง เขมรแดงก็แบบนึง, เผด็จการทหารพม่าก็แบบนึง เผด็จการในไทยก็แบบนึง เพราะฉะนั้นในแง่นึง เราว่าหนังที่สะท้อนเผด็จการที่ “ดูไม่รุนแรงสุดขีด” แบบ FAIR PLAY นี่แหละ ที่มันอาจจะดูใกล้เคียงกับอะไรใกล้ๆตัวเรา มากกว่าหนังที่สะท้อนระบอบเผด็จการที่เหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนา คือเผด็จการใน FAIR PLAY มันไม่ใช่อะไรประเภทที่ ลากคนมายิงทิ้งตามอำเภอใจอะไรแบบนั้น มันไม่ใช่สังคมประเภทที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า “ถ้าหากเราทำแบบนี้ เราจะถูกทหารบุกมายิงทิ้งหรือเปล่า ถ้าหากเราทำแบบนี้ เราจะถูกจับตัวเข้าค่ายกักกันหรือเปล่า ถ้าหากเราทำแบบนี้ เราจะถูกจับไปถ่วงน้ำ หรือถูกจับไปฝังโบกปูนในสนามกีฬาแบบในชิลีหรือเปล่า” แต่มันเป็นสังคมประเภทที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า “ถ้าเราทำแบบนี้ เราจะติดคุกหรือเปล่า” หรือ “เราจะไว้วางใจคนใกล้ตัวเราได้แค่ไหน ทั้งพ่อแม่พี่น้อง เพื่อน ครู ผัวคนที่หนึ่ง ผัวคนที่สอง,...” เพราะฉะนั้น “ระบอบเผด็จการที่ไม่โหดเหี้ยมสุดขีด” แบบใน FAIR PLAY จึงเป็นอะไรที่ดูใกล้ตัวเราดี และใกล้ตัวเรามากกว่าหนังเกี่ยวกับนาซี

4.แต่ไม่ใช่ว่ามันไม่มีหนังที่สะท้อนความเลวร้ายของคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกที่ทรงพลังอย่างสุดๆอยู่นะ เพียงแต่ว่าจำนวนโดยรวมๆแล้วมันอาจจะน้อยกว่าหนังทรงพลังเกี่ยวกับนาซีน่ะ ส่วนหนังเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกที่เราชอบสุดๆก็มีอย่างเช่น

4.1 WALKING TOO FAST (2009, Radim Spacek, Czech)
4.2 SILENT WEDDING (2008, Horatiu Malaele, Romania)
4.3 THE SWIMMER (1981, Irakli Kvirikadze, Soviet Union)
4.4 AN ORDINARY EXECUTION (2009, Marc Dugain, France)

5.มีจุดหนึ่งที่เราชอบเป็นการส่วนตัวใน FAIR PLAY ก็คือว่า “ความรักผัว” หรือ “การสูญเสียผัว” ทำให้นางเอก “มีพลังขับเคลื่อนในตัวอย่างรุนแรง” น่ะ 555 เรามักจะอินกับตัวละครที่มี moment อะไรแบบนี้

คือเราชอบที่พอนางเอกรู้ว่าชายคนรักหนีไปออสเตรียแล้ว นางเอกก็มีพลังในการวิ่งแข่งจนชนะขึ้นมาเลย ราวกับว่า นางเอกเพิ่งมี “แรงจูงใจ” ที่แท้จริง ในการชนะการแข่งขัน เพื่อจะได้ไปโอลิมปิกที่ลอสแองเจลิส และจะได้ขอลี้ภัย และอาจจะได้มีโอกาสเจอชายคนรักอีกครั้ง เพราะการอยู่ในเชคโกสโลวาเกียต่อไป อาจจะทำให้เธอไม่ได้เจอชายคนรักอีก

คือเรามักจะอินกับตัวละครแบบนี้นะ ตัวละครที่เหมือนกับว่า ขาด “ไฟ” ในการต่อสู้เพื่อตัวเองน่ะ แต่พอมีผู้ชายมาเป็นแรงจูงใจปุ๊บ “ไฟ” ในตัวนี่ลุกโพลง โชติช่วงชัชวาลย์ขึ้นมาเลย

คือนี่เป็นปัจจัยเดียวกับที่ทำให้เราชอบหนังเรื่อง KRISTY (2014, Oliver Blackburn, A+30) และ THE DRESSMAKER (2015, Jocelyn Moorhouse, A+30) อย่างสุดๆด้วยแหละ คือในหนังทั้งสองเรื่องนี้นั้น ช่วงครึ่งเรื่องแรก นางเอกเหมือนยังขาด “ไฟ” ในตัวเองอยู่น่ะ แต่พอถึงช่วงกลางเรื่อง ชายคนรักของนางเอกทั้งสองเรื่องนี้ กลับประสบเหตุอะไรบางอย่าง และการที่ชายคนรักประสบเหตุอะไรบางอย่างนี่แหละ ที่ทำให้นางเอก KRISTY เปลี่ยนจากการ “หนีกลุ่มฆาตกรโรคจิต” มาเป็น “การตามไล่ฆ่ากลุ่มฆาตกรโรคจิต” และนางเอก THE DRESSMAKER เปลี่ยนจากการ “ไม่คิดจะแก้แค้นอย่างจริงจัง เพราะบางทีเราอาจจะหนีไปตั้งต้นชีวิตใหม่กับผัวได้” มาเป็น “การเดินหน้าแก้แค้นอย่างจริงจัง”

สรุปว่าเราอินกับนางเอก 3 เรื่องนี้ เพราะ ความรักผัว/การสูญเสียผัว เหมือนกับจุดไฟอะไรบางอย่างอย่างรุนแรงให้กับนางเอก 3 เรื่องนี้นั่นแหละ 555

6.แต่เราก็ชอบ FAIR PLAY มากๆนะ ที่ในที่สุดแล้ว เมื่อต้องเลือกระหว่าง “ความถูกต้องตามสามัญสำนึกของตัวเอง” กับ “การคว้าโอกาสในการได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ แต่ต้องทรยศคนดีบางคน” นางเอกก็เลือกอย่างแรกน่ะ เราชอบมากๆที่วิทยากรท่านหนึ่งพูดว่า ในระบอบการปกครองแบบในหนังเรื่องนี้นั้น ถึงแม้เราตัวคนเดียวจะไม่สามารถโค่นล้มระบอบลงได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือว่า เราต้องยึดมั่นกับ truth ของเราภายใต้ระบอบที่บังคับให้เราโกหก และเราต้องทำในสิ่งที่จะทำให้เราสามารถส่องกระจกดูหน้าตัวเองได้ในทุกๆเช้า ถึงแม้มันต้องแลกด้วยความยากลำบากในชีวิตเราก็ตาม

7.ชอบมากๆที่วิทยากรบางท่านพูดในทำนองที่ว่า เราต้องตั้งคำถามว่า เราถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กจากระบอบการปกครองของประเทศเรา, จากสถาบันต่างๆในประเทศเรา, จากสถาบันศาสนา, จากครูบาอาจารย์, จากพ่อแม่ของเรา, จากคนรอบตัวเรา ว่า “การกระทำอาชญากรรมบางอย่าง” หรือ “การทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องบางอย่าง” เป็น “สิ่งที่ถูกต้องและควรทำ” หรือไม่ และเมื่อเราพบว่า เราถูกหลอกมาตั้งแต่เด็กว่า “สิ่งผิด” เป็น “สิ่งถูก” เราถูกหลอกว่า “อาชญากรรมบางอย่างที่รัฐทำ หรือที่รัฐต้องการให้เราทำ” เป็น “สิ่งที่ถูกต้องและควรทำ” เราจะกล้าลุกขึ้นมาคัดค้านหรือไม่

ซึ่งหนังอีกเรื่องที่สะท้อนสิ่งนี้ได้ดีคือ THE PARTY AND THE GUESTS (1966, Jan Nemec, A+30) ที่ถูกพูดถึงในงานเมื่อวานนี้ เราต้องตั้งคำถามว่า เราถูกสังคมและสถาบันต่างๆหลอกเราให้เชื่อผิดๆ, ทำในสิ่งผิดๆ และตั้งกฎเกณฑ์ผิดๆให้กับเราหรือไม่ และเมื่อเรามองเห็นความผิดพลาดของสิ่งที่เราถูกบอกสอนมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราจะต้องเลือกว่าเราจะเป็นแบบตัวละครตัวไหนใน THE PARTY AND THE GUESTS เราจะเป็น

7.1 “เผด็จการ”
7.2 “เจ้าหน้าที่ ผู้คอยรับใช้เผด็จการ และขจัดคนที่เห็นต่าง”
7.3 “conformists”
7.4 “dissidents”


มันคือ dilemma ถ้าเราต้องการประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในชีวิต เราก็ต้องเลือกอย่างนึง แต่ถ้าหากเราต้องการจะส่องกระจกดูหน้าตัวเองในทุกๆเช้าโดยไม่รู้สึกผิด เราก็ต้องเลือกอีกอย่างนึง

No comments: