Tuesday, September 13, 2016

SWEDISH FILM FESTIVAL 2016

Films seen in the Swedish Film Festival 2016

1.THE CIRCLE (2015, Levan Akin, A+30)
2.UNDERDOG (2015, Ronnie Sandahl, A+30)
3.NICE PEOPLE (2015, Karin af Klintberg + Anders Helgeson, documentary, A+30)
4.WE ARE THE BEST (2013, Lukas Moodysson, A+30)
5.ASTRID (2015, Kristina Lindström, documentary, A+30)
6.VISKAN MIRACLES (2015, John O. Olsson, A+15)
7.YOUNG SOPHIE BELL (2015, Amanda Adolfsson, A+)

UNDERDOG (2015, Ronnie Sandahl, A+30)

--ใน UNDERDOG เราชอบประเด็นเรื่องทัศนคติของคนนอรเวย์กับสวีเดนที่มีต่อกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่เราไม่เคยรู้มาก่อน มันเหมือนกับว่าคนนอรเวย์เหยียดคนสวีเดนนิดนึง โดยมองว่าคนสวีเดนเหมาะทำงานรับใช้คนนอรเวย์ เหมาะเป็นสาวใช้ หรือทำงานบริการให้คนนอรเวย์

ไม่แน่ใจว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะอะไร เราเดาว่าหรือว่านอรเวย์ร่ำรวยขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจากการเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมัน พอนอรเวย์มีฐานะมั่งคั่งขึ้นมาแบบนี้ ก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เหยียดประเทศเพื่อนบ้านหรือเปล่า หรือจริงๆแล้วมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์หลายร้อยปีก่อนอะไรมาเกี่ยวข้องด้วยหรือเปล่า เราก็ไม่รู้เหมือนกัน

เราว่าฝรั่งเวลามองคนไทยกับประเทศอื่นๆในอาเซียนก็อาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ คือมองว่าเหมือนๆกันไปหมด แต่จริงๆแล้วคนในแต่ละประเทศในอาเซียนก็อาจจะเหยียดๆกันเองแบบที่นอรเวย์เหยียดสวีเดน

--ชอบความสัมพันธ์ของ Ida กับนางเอกมากๆ คือเราว่ามันเข้ากับคำว่า underdog จริงๆ เพราะทั้งสองคนต่างก็เป็น underdog ในทางสังคมทั้งคู่ และ Ida นั้นมีฐานะเป็นตัวประกอบโง่ๆมาเกือบตลอดทั้งเรื่องด้วย คือ Ida เหมือนมีฐานะเป็น underdog ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย คือมีฐานะเป็นเพียง “ตัวประกอบ” หรือเป็น “นางรอง” แต่อยู่ดีๆเธอก็กลายเป็น “ตัวละครสำคัญ” ในตอนจบ และเราก็ชอบอะไรแบบนี้มากๆ เพราะเราไม่ชอบหนังที่ fix พระเอก, นางเอกตายตัวน่ะ เราชอบหนังที่ treat ตัวละครหลายๆตัวในหนังเป็นมนุษย์เหมือนๆกัน หรือในระดับที่ใกล้เคียงกัน และหนังเรื่องไหนยิ่ง treat ตัวประกอบได้ดีมากเท่าไหร่ เราก็มีสิทธิจะชอบหนังเรื่องนั้นสูงมาก ในขณะที่ถ้าหากหนังเรื่องไหนปฏิบัติต่อ  “ตัวประกอบ” ว่ามีฐานะเป็นเพียงแค่ “ตัวประกอบ” มากเท่าไหร่ เราก็มีสิทธิจะชอบหนังเรื่องนั้นน้อยลงมาก

--จริงๆแล้วนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบ THE CIRCLE (2015, Levan Akin) ในระดับที่ติด top ten ประจำปีนะ เพราะขณะที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราเดาไม่ถูกจริงๆว่าใครจะเป็นนางเอกของเรื่อง คือหนังเปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครเด็กสาว 6 คนที่มีพลังวิเศษและมีบุคลิกแตกต่างกันไป แต่หนังเรื่องนี้มันยิ่งสนุกกว่า SAILOR MOON อีก เพราะ SAILOR MOON นั้นให้ความสำคัญกับ ตัวละคร Sailor Moon มากที่สุด ในขณะที่เราชอบ Sailor Pluto กับ Sailor Saturn มากที่สุด แต่ยังไงๆเสียสองตัวละครที่เราชื่นชอบนี้ ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติในระดับที่เท่าเทียมกับ Sailor Moon

แต่ THE CIRCLE สามารถลบข้อเสียของ SAILOR MOON นี้ทิ้งไปได้ เพราะในบรรดาเด็กสาว 6 คนนั้น ตัวละครที่เราคิดว่าจะเป็นนางเอก กลับถูกฆ่าตายตอนกลางเรื่อง (จุดนี้ทำให้นึกถึง PSYCHO) ซึ่งนั่นมันคือจุดที่เข้าทางเรามากๆ เพราะเราชอบหนังที่คาดเดาอะไรไม่ได้แบบนี้ และหลังจากนั้นเราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเด็กสาวที่เหลืออีก 5 คน ใครจะอยู่รอดเป็นคนสุดท้ายในตอนจบ

เราชอบการทำลาย “ความเชื่อมั่นของคนดูว่าตัวละครตัวนี้เป็นนางเอกที่จะรอดชีวิตไปจนถึงตอนจบ” แบบนี้มากๆ คือนอกจาก PSYCHO กับ THE CIRCLE แล้ว จุดนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้เราชอบ WOLF CREEK (2005, Greg McLean, Australia) ในระดับสุดชีวิตเหมือนกัน

--สรุปว่าสาเหตุที่ทำให้ชอบ THE CIRCLE และ UNDERDOG มากๆ ก็คือวิธีการ treat ตัวละครในหนังสองเรื่องนี้น่ะแหละ โดยในกรณีของ THE CIRCLE นั้น การที่เราเดาไม่ถูกว่าตัวละครตัวไหนจะเป็นนางเอก, ตัวไหนจะรอดชีวิต หรือตัวไหนจะถูกฆ่าตาย มันทำให้เราลุ้นกับหนังเรื่องนี้มากๆ ส่วนใน UNDERDOG นั้น เราซึ้งมากๆที่ตัวละครที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงตัวประกอบโง่ๆตลอดทั้งเรื่อง กลายเป็นตัวละครที่มีความสำคัญขึ้นมาในช่วงท้ายๆ

NICE PEOPLE (2015, Karin af Klintberg + Anders Helgeson, documentary, A+30)

--NICE PEOPLE ทำให้นึกถึงหนังของ Michael Moore ในแง่ที่ว่า เราอาจจะมีปัญหานิดหน่อยกับท่าทีหรือบุคลิกของผู้สร้างหนังสารคดี แต่ไม่ได้มีปัญหากับทัศนคติทางการเมืองของผู้สร้างหนัง และ “ประเด็น” ที่หนังเล่ามันเป็นประเด็นที่เราสนใจ เราก็เลยชอบหนังเรื่อง NICE PEOPLE มากๆ และยอมรับหนังของ Michael Moore ได้ ถึงแม้จะมีปัญหากับบางฉากบางตอนในแง่ที่ว่า การถ่ายแบบนั้น หรือการตั้งคำถามแบบนั้น มันมีปัญหาทาง ethical  ในการสร้างหนังสารคดีหรือเปล่า

--ความหวาดระแวงของชาวบ้านที่มีต่อคนต่างชาติใน NICE PEOPLE นี่ ทำให้นึกถึงหนังสารคดีเรื่อง VILLAGE (2001, Helke Sander, Germany, A+30) กับเมืองสมุทร SEAPORT (2007, Attapon Pamakho + Benya Poowarachnan, A+30) เลยนะ เพราะหนังสามเรื่องนี้จะมีฉากคล้ายๆกัน นั่นก็คือการไปสัมภาษณ์ชาวบ้านว่ารู้สึกยังไงกับชาวต่างชาติที่อพยพมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน และชาวบ้านก็จะแสดงความเห็นแบบ racist ออกมา

--ช่วงท้ายของหนัง เราดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง ทั้งๆที่รู้ดีว่าหนังมันจงใจทำให้เราร้องไห้ 555 คือเราร้องไห้กับฉากที่ชาวรัสเซียกลุ่มหนึ่งพากันมาเชียร์ทีมโซมาเลียน่ะ คือเราชอบอะไรแบบนี้มากๆ ชอบการที่คนประเทศหนึ่งไม่ได้เชียร์ทีมกีฬาของประเทศตัวเอง คนรัสเซียไม่ได้เชียร์ทีมรัสเซีย แต่มาเชียร์ทีมโซมาเลีย เรื่องแบบนี้เป็นจุดอ่อนของเราจริงๆ เห็นอะไรแบบนี้แล้วก็อดร้องไห้ไม่ได้

--ฉากที่ลูกชายกลับไปเจอแม่ที่โซมาเลีย เราก็ร้องไห้ คือเราชอบมากที่หนังตามไปถ่ายถึงโซมาเลียน่ะ แทนที่จะถ่ายแค่ที่สวีเดนกับไซบีเรีย คือพอหนังตามไปถ่ายถึงโซมาเลีย แล้วเราเห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนที่นั่น เราก็รู้สึกว่าหนังมันไปไกลกว่าที่เราคิดไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมาก แล้วพอลูกชายกับแม่ได้เจอกันหลังจากพลัดพรากกันมานานหลายปี เราก็รู้สึกเหมือนเข้าใจความรู้สึกของคนทั้งคู่เลยน่ะ เหมือนเราสมมุติตัวเองได้ในทันทีว่าถ้าหากเราเป็นแม่ในฉากนั้น แล้วเราจะรู้สึกยังไง และถ้าหากเราเป็นลูกชายในฉากนั้น แล้วเราจะรู้สึกยังไง พอเราสมมุติตัวเองได้แบบนี้แล้ว เราก็เลยอดร้องไห้ไม่ได้

--อีกจุดที่ซึ้งมากๆใน NICE PEOPLE คือการที่ทีมกีฬาทีมนี้ไม่ต้องการ “ชัยชนะ” ใดๆทั้งสิ้น แต่ต้องการทำประตูให้ได้แค่ลูกเดียวก็พอแล้ว เราชอบความมักน้อยแบบนี้มากๆ และทำให้นึกถึงหนึ่งในหนังกีฬาที่เราชอบที่สุดในชีวิต ซึ่งก็คือหนังกีฬาเรื่อง GIVE IT ALL (1998, Itsumichi Isomura) ที่เล่าเรื่องของทีมพายเรือหญิงที่ตั้งเป้าแค่ว่า “ขอแค่ไม่เป็นที่โหล่ก็พอแล้ว”  คือทีมนี้ไม่หวังชัยชนะอะไรเลย ขอแค่ไม่เข้าเส้นชัยเป็นที่โหล่ก็พอแล้ว และตัวละครแบบนี้นี่แหละที่มันถูกโฉลกกับเรา

คือมันเป็นเรื่องนิสัยส่วนตัวของเราด้วยแหละ คือเราจะไม่ถูกโฉลกกับคนประเภทที่ “ต้องการชัยชนะ” หรือ “ต้องการได้รางวัล” น่ะ และเราหลีกเลี่ยงคนประเภทนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือแล้ว 555 เราจำได้ว่าสมัยเรียนหนังสือ แล้วเวลาต้องทำงานกลุ่ม ถ้าหากเราต้องอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนประเภทที่ “ฉันจะทำคะแนนให้ได้มากที่สุด ฉันจะนั่งทำงานให้ดี ละเอียดถี่ยิบที่สุดเต็ม 2 ชั่วโมง” เราจะเบื่อหน่ายมาก และจะพยายามไม่ทำงานกลุ่มกับเพื่อนประเภทนี้ เราจะเลือกทำงานกลุ่มกับเพื่อนประเภทที่ “กูจะทำงานให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ให้เสร็จในหนึ่งชั่วโมงเลย แล้วกูจะได้เอาเวลาที่เหลืออีกหนึ่งชั่วโมงไปเดินสยามสแควร์ เพราะกูไม่สนคะแนน” คือเพื่อนแบบนี้นี่แหละที่เข้ากับเราได้ดี

เพราะฉะนั้นนิสัยของตัวละครทั้งในหนังสารคดีและในหนัง fiction มันก็เลยส่งผลกระทบต่อระดับความชอบของเราที่มีต่อหนังด้วย หนังสารคดีอย่าง NICE PEOPLE และหนัง fiction อย่าง GIVE IT ALL ที่พูดถึงนักกีฬาที่ไม่หวังชัยชนะอะไรทั้งสิ้น ก็เลยเข้าทางเราอย่างมากๆ เพราะเรามักจะถูกโฉลกกับคนแบบนี้ในชีวิตจริงด้วย ใครจะด่าเราว่าเราเป็น loser เพราะสาเหตุนี้ เราก็ยอมรับแต่โดยดี

--ฉากที่ฝังใจเรามากที่สุดใน NICE PEOPLE คือฉากที่หญิงศรีลังกาเล่าให้ฟังว่า เธอกับลูกชายถูกคนสวีเดนที่จูงลูกๆมาด้วยสองคน ขว้างก้อนดินใส่ คือฉากนี้เราไม่เห็นการจำลองภาพอะไรทั้งสิ้นนะ เราได้เห็นแต่ใบหน้าของหญิงศรีลังกาขณะเล่าเรื่องนี้ต่อหน้ากล้อง แต่แค่นี้มันก็สร้างความสยองให้กับเราในระดับที่ทัดเทียมกับการได้ดูหนังเรื่อง IMPERIUM (2016, Daniel Ragussis, A+30) ทั้งเรื่องแล้ว

--สิ่งที่ NICE PEOPLE อาจจะขาดไป ก็คือความสนิทสนมระหว่างผู้สร้างหนังกับผู้อพยพชาวโซมาเลียน่ะ คือมันมีตัวเปรียบเทียบด้วยแหละ เพราะก่อนหน้านี้เราเคยดูหนังสารคดีเรื่อง RUN FOR LIFE (2011, Mladen Maticevic) ที่พูดถึงผู้อพยพชาวเอธิโอเปียที่หนีมาอยู่เซอร์เบีย และพยายามฝึกฝนเป็นนักกีฬาวิ่งในเซอร์เบีย คือหนังสองเรื่องนี้มันคล้ายกันในแง่ที่ว่า มันพูดถึงผู้อพยพจากแอฟริกาในประเทศใกล้ๆกัน, ย้ายมาอยู่ยุโรปเหมือนกัน และพยายามจะเอาดีทางการเล่นกีฬาเหมือนกัน แต่มันต่างกันในแง่ที่ว่า RUN FOR LIFE มันพาเราเข้าไปใกล้ชิดกับผู้อพยพได้จริงๆน่ะ ในขณะที่ NICE PEOPLE มันยังพาเราเข้าไปสนิทชิดเชื้อกับผู้อพยพได้ไม่มากพอ

WE ARE THE BEST (2013, Lukas Moodysson, A+30)

--รู้สึกว่า WE ARE THE BEST มันจริงกว่า SING STREET (2016, John Carney) หรือมันใกล้ตัวเรามากกว่า SING STREET เพราะ WE ARE THE BEST มันเล่าเรื่องของเด็กสาวสามคนที่พยายามตั้งวงดนตรีในต้นทศวรรษ 1980 แต่เด็กสาวสามคนนี้ไม่เป็นโล้เป็นพายอะไรเลยตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง 555 คือเหมือนกับว่าพวกเธอแทบไม่ได้พัฒนาความสามารถทางดนตรีอะไรขึ้นมาเลย, ไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย, ไม่ได้สวยขึ้นเลย

แต่ไม่ใช่ว่า SING STREET ไม่ดีนะ คือเราว่าหนังสองเรื่องนี้เป็นด้านกลับของกันและกันน่ะ WE ARE THE BEST คือภาพความจริงของคนธรรมดาที่เคยฝันเล่นๆว่าอยากตั้งวงดนตรีในวัยรุ่น ส่วน SING STREET คือ “ภาพฝัน” และการเป็น “ภาพฝัน” มันไม่ได้ผิดอะไร

--จริงๆแล้วผู้สร้างหนังไทยเมนสตรีมหลายคน ควรจะดู WE ARE THE BEST เป็นตัวอย่างนะ เพราะเราว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีหนังไทยเมนสตรีมหลายเรื่องที่ชอบนำเสนอตัวละครวัยรุ่นที่ฝันอยากเป็นนักดนตรีน่ะ แต่มีแค่ไม่กี่เรื่องที่นำเสนอ “ความไม่เป็นโล้เป็นพาย” ของวัยรุ่นได้อย่างถึงขั้นแบบนี้

--ดูแล้วต้องกราบตีน Lukas Moodysson จริงๆในแง่ที่ว่า มันเหมือนมีความเคลื่อนไหวทางอารมณ์อย่างละเอียดยิบในทุกๆวินาทีน่ะ คือตัวละครและหนังมันไม่หยุดนิ่งด้วยแหละ ตัวละครในหนังเรื่องนี้มันพูดไม่หยุด หรือมันมีการขยับตัว มีการแสดงออกอะไรสักอย่างอยู่ทุกๆวินาที และเราก็รู้สึกว่าทุกๆวินาทีในการแสดงออกของตัวละครมันดูเป็นธรรมชาติมากๆ ซึ่งอะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่เราว่ายากสุดๆ ในการทำหนัง คือคนเขียนบทมันต้องเข้าใจธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของตัวละครจริงๆ มันถึงจะเขียนบทให้ตัวละครพูดและแสดงออกในทุกๆวินาทีของหนังได้อย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติแบบนี้ และนักแสดงกับผู้กำกับก็ต้องเก่งมากๆด้วยในการแสดงและกำกับการแสดงให้เป็นธรรมชาติในทุกๆวินาทีแบบนี้ได้

--ชอบ WE ARE THE BEST มากกว่า LILYA 4 EVER (2002, Lukas Moodysson) และอาจจะชอบมากกว่า FUCKING AMAL (1998, Lukas Moodysson) ด้วยนะ เพราะเรารู้สึกเหมือนกับว่า WE ARE THE BEST มันไม่ถูกครอบงำด้วยประเด็นทางสังคมน่ะ ตัวละครในหนังก็เลยได้รับอนุญาตให้ทำตัวเป็น “มนุษย์ปุถุชน” ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ตัวละครใน LILYA 4 EVER ต้องรับหน้าที่เป็น “ตัวแทนของปัญหาสังคมรัสเซีย” และตัวละครใน FUCKING AMAL ต้องรับหน้าที่เป็น “ตัวแทนที่ดีของเลสเบียน” ตัวละครใน LILYA 4 EVER กับ FUCKING AMAL ก็เลยเหมือนไม่เป็นอิสระอย่างเต็มที่ แต่ตัวละครใน WE ARE THE BEST ได้รับอนุญาตให้เป็น “คนจริงๆ” ได้

--แต่การที่หนังนำเสนอตัวละครที่ดูเป็นมนุษย์จริงๆ และไม่ถูกครอบงำด้วยประเด็นทางสังคม ก็มีข้อด้อยในตัวมันเองนะ เพราะหนังเรื่องนี้ “ขาดจุดสะเทือนใจ” น่ะ คือมันก็เหมือนชีวิตจริงของมนุษย์น่ะแหละ ที่ไม่จำเป็นต้องเผชิญกับเรื่องหนักหนาสาหัสหรือเรื่องสะเทือนใจอะไรก็ได้ในบางช่วงเวลาของชีวิต และหนังเรื่องนี้ก็สะท้อนภาพชีวิตช่วงนั้นออกมา แต่พอหนังขาด “จุดสะเทือนใจ” ไป เราก็เลยไม่แน่ใจว่าเราจะฝังใจกับหนังเรื่องนี้ในระยะยาวหรือเปล่า ก็คงต้องรอดูกันต่อไป

--แต่ในบรรดาหนังของ Lukas Moodysson ที่เราเคยดูมา เราอาจจะชอบ TOGETHER (2000) มากที่สุดนะ แต่จำไม่ได้แล้วว่าอะไรใน TOGETHER ที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรง จำได้แต่ว่าดูแล้วชอบมากๆ

ASTRID (2015, Kristina Lindström, documentary, Sweden,  A+30)

1.รู้สึกว่าหนังเรียบเรียงภาพกับเสียงได้ดีสุดๆน่ะ คือหนังใช้ภาพจาก home movies และหนังยุคโบราณเยอะมาก และนำมันมาประกอบเข้ากับเรื่องราวของ Astrid Lindgren เมื่อ 50-100 ปีก่อนได้ดี

คือเราว่าเรื่องแบบนี้ต้องอาศัย sense ที่ดีของผู้กำกับเป็นหลักน่ะ ในการเลือกว่าจะเอาภาพจาก home movies ไหนมาประกอบเข้ากับเสียงบรรยายหรือเสียงสัมภาษณ์ไหน เพราะในหลายๆช่วงของหนัง มันไม่ได้ใช้ภาพที่ตรงกับเรื่องที่กำลังเล่าแบบ 100% เต็ม มันเหมือนเรื่องราวประวัติของแอสตริดนั้น ถูกเล่าผ่านเสียงสัมภาษณ์ของคนต่างๆเป็นหลัก ส่วนภาพนั้นมีหน้าที่ช่วยประกอบเสียง และหนังเรื่องนี้ก็มีวิธีการบางอย่างที่ดีมากๆในการเลือกภาพมาประกอบเสียง คือถ้าหากภาพมัน “ตรง” กับเรื่องที่เล่าแบบ 100% เต็ม มันก็จะน่าเบื่อ และมันไม่มีความจำเป็น เพราะเสียงมันทำหน้าที่เล่าเรื่องไปแล้ว ภาพไม่ต้องทำหน้าที่นั้นซ้ำก็ได้ มันต้องเลือกภาพที่พอมันมาประกอบเข้ากับเสียงเล่าเรื่องแล้ว มันก่อให้เกิด “สัมผัสคล้องจอง” บางอย่างในทางอารมณ์ และเราว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้เลือกภาพจากหนังยุคโบราณได้เก่งมากๆ ในการนำมาประกอบเสียงเล่าเรื่องในหนังเรื่องนี้ ทั้งๆที่มันเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อฉายทางทีวีเป็นหลัก

บรรยายไม่ถูกเหมือนกันว่า “เคมี” ระหว่างภาพกับเสียงในหนังเรื่องนี้มันดียังไง แต่เราว่ามันมี “เคมี” ที่ถูกจริตเรามากๆระหว่างภาพกับเสียงในหนังเรื่องนี้น่ะ และมันทำให้หนังเรื่องนี้เหนือชั้นกว่าหนังสารคดีแนวชีวประวัติของสวีเดนเรื่องอื่นๆที่เราเคยดูมา อย่างเช่นเรื่อง LIFE AT ANY COST (1998, Stefan Jarl) ที่เกี่ยวกับประวัติของ Bo Widerberg และ PRESENCE (2003, Jan Troell) ที่เกี่ยวกับตากล้องภาพนิ่งชื่อ Georg Oddner คือเราว่าในหนังสารคดีแบบสองเรื่องนี้ มันไม่ได้มี “เคมี” ที่น่าสนใจระหว่างภาพกับเสียงแบบใน ASTRID น่ะ

2.หนังเล่าถึงอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจเยอะมากในชีวิตของ Astrid ทั้งเรื่องที่เธอมีลูกนอกสมรสตั้งแต่อายุราว 18 ปี, เรื่องที่เธอเป็น single mum ที่ต้องเลี้ยงลูกอย่างยากลำบากแสนเข็ญ, เรื่องที่เธอต่อต้านฮิตเลอร์

2.1 จุดที่ชอบมากๆจุดนึงในชีวิตของ Astrid ก็คือเรื่องที่เธอถูกเลสเบียนชาวเยอรมันตามจีบอย่างรุนแรง และแอสตริดก็บอกไปตามตรงว่าเธอไม่ได้อยากมีเซ็กส์กับผู้หญิง และเธอก็คบเลสเบียนคนนั้นเป็นเพื่อนสนิท และเขียนจดหมายหากันเป็นเวลานานหลายสิบปี

2.2 ชอบเรื่องที่แอสตริดเขียนหนังสือเพื่อหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายด้วย เราว่ามันคือสาเหตุเดียวกับที่เรากลายเป็น cinephile น่ะแหละ นั่นก็คือเพื่อจะได้หนีจากโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายสักชั่วครู่ชั่วยามในขณะดูหนัง

2.3 ชอบเรื่องที่แอสตริดด่าทออย่างรุนแรงกับเด็กหญิงอายุ 12 ปีที่เขียนจดหมายมาหาเธอด้วย จนเด็กหญิงคนนั้นต้องเขียนมาขอโทษแอสตริด และกลายเป็น penpal ที่สนิทสนมกันมากในเวลาต่อมา

3.เราว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้ research มาดีมากๆด้วย ชอบที่หนังเอาฉากต่างๆในหนังของ Mary Pickford มาเทียบให้ดูว่ามันส่งอิทธิพลต่อ Pippi Longstocking ยังไงบ้าง

คือผู้สร้างหนังเรื่องนี้ นอกจากต้อง research ประวัติชีวิตของแอสตริดอย่างละเอียดแล้ว เขายังต้องช่ำชองเรื่องหนังสือต่างๆที่แอสตริดเขียน, ภาพยนตร์เรื่องต่างๆที่สร้างจากงานเขียนของแอสตริด และยังต้องช่ำชองเรื่องภาพยนตร์ยุคโบราณด้วย ทั้งหนังฮอลลีวู้ดยุคโบราณที่ส่งอิทธิพลต่อแอสตริด และหนัง home movies เมื่อ 50-100 ปีก่อนในสวีเดนที่สามารถนำภาพจากหนังมาใช้ประกอบเสียงเล่าในหนังเรื่องนี้ได้

VISKAN MIRACLES (2015, John O. Olsson, Sweden, A+15)

1.ช่วงแรกๆเกลียดหนังเรื่องนี้มาก รู้สึกว่าทุกอย่างมันดูโฉ่งฉ่าง ดู loud ดูต่ำไปซะหมด พระเอกก็เป็น very unlikeable character มากๆ

2.แต่พอดูไปเรื่อยๆ ก็พบว่า ความ loud ความต่ำ ความแผดเสียงแผดอารมณ์ของหนังเรื่องนี้ มันเหมือนเป็นสไตล์ที่เราไม่ค่อยพบในหนังที่เราได้ดูในยุคหลังๆ คือหนังยุคหลังๆที่เราได้ดู หรือเราเลือกดู มันเป็นหนัง “อาร์ตนิ่งช้า” ไง เพราะฉะนั้นความโฉ่งฉ่างของหนังเรื่องนี้ พอดูไปดูมาแล้วเรากลับพบว่ามันเป็นรสชาติที่แปลกดีสำหรับเรา 555 และเรารู้สึกว่ามันเป็นโฉ่งฉ่างแบบที่เราไม่คุ้นเคยด้วย บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามันเป็นยังไง แต่มันไม่ใช่โฉ่งฉ่างแบบหนังไทย, หนังจีน, หนังอินเดีย หรือหนังอิตาลีน่ะ มันเป็นโฉ่งฉ่างแบบหนังยุโรปเหนือ ซึ่งเป็นแบบที่เราแทบไม่เคยเจอมาก่อน เราก็เลยยอมรับมันได้ในระดับนึง

3.ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมพอดูไปเรื่อยๆแล้วถึงชอบมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะเป็นเพราะตัวเองเริ่มจูนติดกับความโฉ่งฉ่างของหนังได้พอเวลาผ่านไปสักระยะนึงก็ได้ 555 แต่สาเหตุนึงที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้เป็นเพราะว่า เรารู้สึกว่าหนังจริงใจมากพอสมควรกับความเหี้ยของตัวละครพระเอกน่ะ คือพระเอกมันเป็นมนุษย์ปุถุชนที่เหี้ยในระดับนึง คือไม่ได้เหี้ยสุดๆนะ แต่เหี้ยแบบปานกลางค่อนข้างมาก และหนังก็จริงใจกับตัวละครตัวนี้ในแง่ที่ว่า มันกลับตัวกลับใจยากมากๆเลยน่ะ คือถ้าหากเป็นหนังเรื่องอื่นๆ พระเอกมันคงจะทำตัว likeable มากกว่านี้ หรือกลับตัวกลับใจได้ง่ายกว่านี้ไปแล้ว แต่พอพระเอกหนังเรื่องนี้กลับตัวกลับใจยากมาก เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเลย เพราะเหมือนหนังมันค่อนข้างใจกว้าง อ้าแขนโอบรับมนุษย์ปุถุชนที่มีข้อบกพร่องในตัวสูงมากๆได้

4.ความดื้อด้านดันทุรังในการทำตัวไม่ดีของตัวละครพระเอกในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงหนังสารคดีเรื่อง THE LAND OF SMILES (2015, Heikki Häkkinen) ด้วย เพราะ THE LAND OF SMILES เล่าเรื่องของหนุ่มรูปหล่อชาวฟินแลนด์ที่มาอยู่เมืองไทย แล้วกลายเป็นคนติดเหล้าอย่างรุนแรง สภาพของเขาแทบเหมือนกับคนพิการ ร้อนถึงเพื่อนๆต้องเดินทางจากฟินแลนด์มาช่วยชีวิตเขา แต่หลังจากนั้นเขาก็กลับไปติดเหล้าอีก คือ THE LAND OF SMILES มันแสดงให้เห็นว่า มนุษย์บางคนมัน beyond redemption จริงๆน่ะ เขาไม่ใช่คนเลวร้ายนะ แต่เขาไม่สามารถเอาชนะกิเลสในใจตนเองได้ และทำในสิ่งที่ไม่ดีกับชีวิตตัวเอง ทั้งๆที่รู้อยู่ว่ามันไม่ดี

ตัวละครพระเอกใน VISKAN MIRACLES ก็เกือบจะเป็นแบบนั้นเหมือนกัน แต่อย่างไรเสียนี่ก็เป็นหนัง feel good ไม่ใช่หนัง feel bad และไม่ใช่หนังสารคดี เพราะฉะนั้นพระเอกของหนังเรื่องนี้ก็เลยยังไม่ได้ beyond redemption

5.คือถ้าหากหนังเรื่องนี้ไม่เลือกทำตัวโฉ่งฉ่างนะ เราคงได้หนังแบบ Mike Leigh หรือ Ken Loach ที่ดีเรื่องนึงไปแล้ว เพราะสภาพของตัวละครในหนังเรื่องนี้ ที่เป็นชนชั้นแรงงานในสวีเดน มันทำให้นึกถึงพวกตัวละครจนๆในหนังของ Mike Leigh กับ Ken Loach มากๆ

YOUNG SOPHIE BELL (2015, Amanda Adolfsson, Sweden, A+)

ทำไมเรารู้สึกว่าหนัง overdramatize อารมณ์ความรู้สึกของนางเอกมากเกินไป 555 คือจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มีบางอย่างที่ทำให้นึกถึงหนังของ Jacques Rivette นะ ในแง่ที่ว่า หนังของ Rivette มักนำเสนอปมปริศนาลึกลับอะไรบางอย่าง ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับองค์กรลับ แต่พอเอาเข้าจริงๆแล้ว ปมปริศนาลับนั้นกลับเป็นเรื่องที่ขี้ปะติ๋วมากๆ และคลี่คลายได้ง่ายมากๆเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

หนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน คือนางเอกไปสืบหาความจริงเกี่ยวกับเพื่อนที่เสียชีวิตในเบอร์ลิน ตำรวจบอกว่าเพื่อนคนนี้ฆ่าตัวตาย แต่นางเอกทำเหมือนกับว่า เพื่อนคนนี้อาจจะถูกฆาตกรรม มีไดอารี่ที่หายสาบสูญ ไม่รู้ว่าใครขโมย มีการขโมยของอะไรบางอย่าง คือดูไปช่วงแรกๆจะทำให้นึกว่า เพื่อนนางเอกอาจจะรู้ความลับขององค์กรลับอะไรสักอย่าง แล้วเลยถูกฆ่าปิดปากน่ะ และนางเอกจะต้องสืบหาฆาตกรให้ได้

แต่พอหนังเฉลยความจริง มันก็ไม่ได้อารมณ์แบบ Jacques Rivette นะ เพราะหนังเรื่องนี้ dramatize อารมณ์ของนางเอกอย่างรุนแรงมากในหลายๆฉาก และเราไม่อินกับอารมณ์รุนแรงของนางเอกในฉากต่างๆในช่วงท้ายเรื่องเลยน่ะ ระดับความชอบของเราก็เลยไม่ได้สูงมากนัก



No comments: