Tuesday, September 06, 2016

THE PURPLE KINGDOM (2016, Pimpaka Towira, A+30)

9 หนังสั้น ก้าวปฏิรูป

1.THE PURPLE KINGDOM (2016, Pimpaka Towira, A+30)

ชอบโครงสร้างของหนังเรื่องนี้มาก เหมือนครึ่งหนึ่งมันเป็นการสะท้อนความทุกข์ของมีนอ ซึ่งเป็นภรรยาของบิลลี่ นักเคลื่อนไหวที่หายตัวไป ซึ่งส่วนนี้เหมือนเป็นภาคสาม ต่อจากหนังเรื่อง THE WAY OF LIVES (2013, Hta Kwa) และ OUR FOOTPRINTS (2015, Hta Kwa) ที่พูดถึงชาวบ้านกลุ่มนี้และบิลลี่เหมือนกัน

แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้รุนแรงมากๆ ก็คืออีกครึ่งนึงของหนังเรื่องนี้ มันเหมือนเป็นการ parody หนังเมนสตรีมหรือวิธีการเล่าแบบหนังเมนสตรีม เพราะอีกครึ่งนึงของหนังเรื่องนี้ เล่าเรื่องของภรรยาเจ้าหน้าที่ของทางการ (ไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือเปล่า) ที่หายตัวไป แต่สไตล์การเล่าในส่วนนี้จะตรงข้ามกับส่วนของมีนอ เพราะสไตล์การเล่าในส่วนนี้จะเน้นความฟูมฟายและขับเน้นอารมณ์อย่างรุนแรง มีการใช้ดนตรีประกอบป็อปๆซึ้งๆ มีการโหยไห้อาลัยคำบอกรักที่สลักไว้บนศาลา ตัวละครแสดงออกทางสีหน้าอย่างชัดเจน และตัวละครได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่

คือลำพังเนื้อหาในส่วนของมีนอมันก็ทำให้หนังเรื่องนี้รุนแรงมากๆในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่พอหนังเรื่องนี้นำเรื่องของมีนอมาประกบกับเรื่องเล่าของเมียเจ้าหน้าที่ที่ถูกถ่ายทอดด้วยสไตล์แบบหนังเมนสตรีม มันก็เลยทำให้ THE PURPLE KINGDOM กลายเป็นหนังที่ unique มากๆ และเป็นหนังที่น่าสนใจสุดๆทั้งในส่วนของ form และ content

คือถ้าหากหนังเรื่องนี้ไม่มีการเล่นกับ form ด้วย หนังเรื่องนี้ก็ยังคงรุนแรงสุดๆอยู่ดีนะ เพราะการได้เห็นสีหน้าแววตาของมีนอและเรื่องราวของชาวบ้านกลุ่มนี้ มันก็รุนแรงมากๆอยู่แล้ว แต่พอหนังนำมันมาเปรียบเทียบกับผู้สูญเสียสามีที่อยู่ในสถานะที่แตกต่างจากมีนอ มันก็เลยเกิดการเปรียบเทียบที่น่าสนใจสุดๆ ทั้งในส่วนของสถานะทางสังคม, ความไม่เท่าเทียม และวิธีการแสดงออกที่แตกต่างกัน

ปีนี้เป็นปีทองของคุณพิมพกาจริงๆ เพราะ THE ISLAND FUNERAL กับ A PRELUDE TO THE GENERAL (นิมิตลวง) ก็เป็นหนังที่น่าจดจำมากๆอยู่แล้ว และนี่ยังมี THE PURPLE KINGDOM ที่สุดๆอีก

น่าสนใจดีด้วยที่ตัวละครหญิงในหนังของคุณพิมพกา มักจะอยู่ในสถานะตามหาอะไรบางอย่าง หรือเผชิญกับ force อะไรบางอย่างที่ยากจะต่อสู้ได้ โดยตัวละครหญิงที่ตามหาคนนั้นมีทั้งใน ONE NIGHT HUSBAND (2003), THE ISLAND FUNERAL (2015) และ THE PURPLE KINGDOM ส่วนตัวละครหญิงที่ต้องเผชิญกับพลังอำนาจอะไรบางอย่างที่ยากจะต่อสู้ได้นั้น มีอยู่ใน MAE NAK (1997), THE TRUTH BE TOLD (2007), A PRELUDE TO THE GENERAL (2016) และรวมไปถึงใน THE PURPLE KINGDOM ด้วย

2.POWERHOUSE COMPLEX (2016, Soraya Nakasuwan, A+30)

รุนแรงมากๆ หนังดัดแปลงมาจากเรื่องของคุณเจริญ วัดอักษร ที่เรื่องราวของเขามันสมควรจะนำมาทำเป็นหนังมากๆอยู่แล้ว

เราชอบมากด้วยที่หนังเรื่องนี้ไม่ทำตัวแบบหนังที่สร้างจากคดีจริงเรื่องอื่นๆ ประเภทหนังอย่าง “ศยามล” , “เชอรี่แอน” อะไรทำนองนั้นน่ะ แต่หนังเน้นไปที่ฉากกลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกาคุยกันอย่างเคร่งเครียด ว่าจะตัดสินคดีนี้อย่างไร

เราว่าฉากผู้พิพากษาถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียดนี่ เป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเห็นในหนังไทยเรื่องอื่นๆเลยนะ เพราะมันเป็นฉากที่ต้องอาศัยความรู้ทางกฎหมายที่ดีมากๆน่ะ มันถึงจะเขียนบทสนทนาแบบนี้ออกมาได้ และประเด็นที่คุยกันมันก็น่าสนใจมากด้วย มันแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของกฎหมายที่ควรได้รับการแก้ไข และตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการตัดสินคดี

พอได้ดู THE PURPLE KINGDOM กับ POWERHOUSE COMPLEX ที่สร้างจากคดีจริงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแบบนี้แล้ว มันทำให้รู้สึกว่า อยากให้มีการสร้างหนังแบบนี้ออกมาอีกมากๆนะ แต่มันก็ยากน่ะแหละ เพราะจริงๆแล้วในไทยมันมีคดีแบบนี้อยู่เยอะ แต่ฆาตกรที่สั่งฆ่าแกนนำชาวบ้านเหล่านี้มันก็ล้วนแต่เป็นผู้มีอิทธิพลทั้งนั้น

3.DAMSEL IN DISTRESS อายุเยาวเรศรุ่นเจริญศรี (2016, Sivaroj Kongsakul, A+30)

เป็นหนังที่ไม่ได้มี content อัดแน่นด้วยข้อกฎหมายแบบหนังเรื่องอื่นๆ แต่ในแง่ความประทับใจแล้ว มันสร้างความประทับใจได้รุนแรงมาก คือภาพศพตัวละครผูกคอตายยังหลอนเราอยู่เลย และมันไม่ได้หลอนเพราะมันเป็นภาพที่น่าเกลียดน่ากลัวนะ แต่มันหลอนในแง่ที่ว่า เราคาดไม่ถึงว่าตัวละครจะผูกคอตายน่ะ แต่พอได้เห็นตัวละครตัดสินใจแบบนี้แล้ว มันก็เลยกระตุ้นให้เราจินตนาการว่า ตัวละครมันทุกข์ใจมากเพียงใด ถึงได้ตัดสินใจแบบนี้

คือเหมือนกับว่าตัวละครตัวนี้แบกความทุกข์ไว้ 100 หน่วยน่ะ แต่เธอแสดงออกมาทางสีหน้าและการกระทำเพียงแค่ 20 หน่วยเท่านั้น ส่วนอีก 80 หน่วย เธอเก็บมันไว้ข้างใน จนกระทั่งเธอฆ่าตัวตายนั่นแหละ เราถึงรู้ว่าเธอแบกความทุกข์ไว้ 100 หน่วยอยู่ในตัว

และเราชอบอะไรแบบนี้มากๆ เราว่ามันจริงที่สุด และเราว่าคนหลายๆคนก็เป็นแบบนี้ คือแบกความทุกข์ไว้ในใจเยอะมาก แต่ไม่ได้แสดงออกมาตรงๆ ไม่ได้ตีอกชกหัว ไม่ได้ร้องไห้ (เหมือนมีนอใน THE PURPLE KINGDOM) และคนอีกหลายคนก็ทำร้ายจิตใจคนเหล่านี้ เพราะนึกว่าการทำร้ายจิตใจคนอื่นมันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร แต่หารู้ไม่ว่า คนที่ตัวเองทำร้ายจิตใจไปนั้น เขาอาจจะแบกความทุกข์ไว้ในใจแล้ว 99 หน่วยก็ได้ แล้วพอคุณไปทำร้ายจิตใจเขา มันก็เหมือนฟางเส้นเดียวที่ทำให้ลาหลังหัก หรือฟางเส้นเดียวที่ทำให้เขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในที่สุด

ชอบมากด้วยที่มันมีหนังแบบนี้อยู่ในกลุ่มหนังกลุ่มนี้ คือหนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้มันอาจจะมีข้อดีแตกต่างกันไปน่ะ หนังอย่าง THE PURPLE KINGDOM นี่สุดยอดมากๆทั้ง form และ content ส่วนหนังอย่าง POWERHOUSE COMPLEX ก็มี content ที่ดีมากๆ ในขณะที่หนังอย่าง DAMSEL IN DISTRESS นั้น ไม่ได้โดดเด่นที่ content แต่มันทำให้เราตระหนักถึงสิ่งที่สำคัญมากๆ ว่า สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมเมื่อจะนำกฎหมายไปใช้ในกรณีใดๆ หรือเมื่อเราจะตัดสินใครว่าสมควรได้หรือไม่ได้รับอะไร ก็คือ “หัวจิตหัวใจของมนุษย์”

4.ค้างคาวหลงกรง (2016, Patana Chirawong, A+30)

ชอบความเป็นเกย์ของตัวละครมากๆ คือเราว่าทั้ง “ค้างคาวหลงกรง” และ AFTER IMAGE (2015, Patana Chirawong) มันดีมากๆเลยในแง่ที่ว่า มันนำเสนอตัวละครเกย์/ไบเซ็กชวลในหนังที่ไม่จำเป็นต้องเน้นความรักโรแมนติกระหว่างเกย์

คือพอพูดถึง “หนังเกย์” ของไทย เราก็จะนึกถึงแต่หนังที่เล่าเรื่องความรักของเกย์ หรือหนังตลกของพจน์ อานนท์ไง ในขณะที่จริงๆแล้ว มันควรจะมีหนัง genre อื่นๆที่นำเสนอตัวละครที่เป็นเกย์บ้าง และเราว่า AFTER IMAGE กับ “ค้างคาวหลงกรง” ทำตรงจุดนี้ได้ดีมากๆ และมันทำให้ตัวละครที่เป็นเกย์ ดูเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น และสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหนังได้ทุก genre

ในส่วนของเนื้อหาแล้ว ค้างคาวหลงกรง ก็ทำได้ดีมากๆนะ และเล่าเรื่องได้อย่างซาบซึ้งและมีการเปรียบเปรยที่ดีมากๆด้วย

คือเราว่าจริงๆแล้วในส่วนของการนำเสนอเนื้อหาแบบนี้ในภาพยนตร์ยุคนี้ มันยากนิดนึงในแง่ที่ว่า มันอาจจะไม่มีอะไรใหม่น่ะ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้ว นั่นก็คือ นักโทษที่พ้นโทษออกมาแล้ว ต้องประสบความยากลำบากอย่างมากในการตั้งต้นชีวิตใหม่ เพราะเงินก็ไม่มี ญาติพี่น้องก็อาจจะตายกันไปเกือบหมดแล้ว แถมยังถูกสังคมตราหน้า รังเกียจเดียดฉันท์อีก คือเรื่องราวความยากลำบากของชีวิตนักโทษที่เพิ่งพ้นโทษออกมานี่ มันสร้างกันออกมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเรื่องแล้วน่ะ ทั้งหนังฮอลลีวู้ด, หนังเยอรมัน, หนังฮ่องกง

เพราะฉะนั้นเราก็เลยประทับใจมากที่ ค้างคาวหลงกรง สามารถเล่าเรื่องที่ดูเหมือน cliche นี้ได้อย่างละมุนละม่อม ซาบซึ้ง และน่าประทับใจมากๆ โดยผ่านทางการนำเสนอความรักความผูกพันระหว่างนักโทษชายสองคน และเรื่องเล่าเปรียบเปรยเกี่ยวกับค้างคาว

5.จุดตบของเจน (2016, Kongdej Jaturanrasmee, A+30)

ประเด็นดีมากๆ วิธีการเล่าก็สนุกดีด้วย

6.LAW เท่ากับรอ (2016, นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ, A+30)

เหมือนวิธีการเล่ากับการถ่ายภาพมันไม่เปรี้ยงสุดขีดเหมือนหนัง 5 เรื่องข้างต้นนะ แต่เรื่องราวที่เล่ามันรันทดหดหู่จริงๆ

7.หยุดนะ ยอมมอบตัวซะโดยดี เราล้อมไว้หมดแล้ว (2016, Santi Taepanich, A+25)

เป็นหนังที่ดีมากๆในแง่การให้ข้อมูลกับผู้ชมผ่านวิธีการที่สนุกสนาน

8.ศพนิรนาม (2016, Manussa Vorasingha, A+20)

เหมือนเนื้อหามันไม่อัดแน่นหรือน่าสนใจเท่าหนังเรื่องอื่นๆในกลุ่มนี้นะ แต่ถ่ายภาพได้งดงามมากๆ

9.หาย(นะ) (2016, พรรณพันธ์ ทรงขำ, A+10)


ประเด็นดี หนังก็สนุกดี แต่วิธีการนำเสนอมันเหมือนหนังไทยเมนสตรีมโดยทั่วๆไป หนังมันก็เลยไม่ได้กระทบใจเรามากเป็นพิเศษ

No comments: